km

km
พัฒนาชุมชนสมุทรปราการ ดำเนินงาน KM

วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

KM การจัดการความรู้เชิงแนวคิดทฤษฎี













การจัดการความรู้(Knowledge Management)





1.ความเป็นมา(บทนำ)
กระแสการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ต้องเผชิญไม่ว่าจะเป็นบุคคล หรือองค์กร การเปลี่ยน แปลงที่เกิดขึ้นมันรวดเร็วและรุนแรง ก็ด้วยปัจจัยที่เกิดจากการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีสาร สนเทศ ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบกับการดำเนิน งานทั้งภายในและภายนอกองค์การ ส่งผลให้เวทีการแข่งขันที่เคยจำกัดอยู่ในวงแคบ ๆ ขยายขอบ เขตออกไปครอบคลุมทั่วโลก และตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ ปี 2545-2549 ได้กำหนดให้การบริหารงานภาครัฐเข้าสู่ ระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) อีกทั้งแนวคิดในการบริหารจัดการสมัยใหม่ ทั้งการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) การจัดการคุณภาพ (Quality Management) การจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) และ การจัดการความรู้ (Knowledge Management)
ทำให้องค์กรและหน่วยงานทั้งหลายต้องปรับท่าที เพื่อความอยู่รอด และมีภูมิคุ้มกันอย่างมั่นคง เพราะองค์กร เป็นสิ่งมีชีวิต (Organic) ไม่ใช่เครื่องจักร (Mechanic) โดยคนเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ ซึ่งคนก็ไม่ใช่ต้นทุน แต่เป็นทุนมนุษย์ (Human Capital) เพราะในตัวคนมี ทักษะและประสบการณ์ที่ก่อให้ เกิดความชำนาญซึ่งเป็น “ทุนความรู้” (Knowledge Capital) จำเป็นต้องสร้างค่านิยมขององค์การ (Corporate Value) และวัฒนธรรมองค์กร (Corporate Culture) ที่ดี ความรู้ภายใต้บริบทเฉพาะมักแฝงอยู่ในภาษา วัฒนธรรม หรือประเพณี นักวิพากษ์ ลัทธิจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม กล่าวว่าการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมเดี่ยว ทำให้ความรู้ท้องถิ่นบางอย่างถูกทำลายลง ทำอย่างไรให้ความรู้ในทางปฏิบัติ ซึ่งมักเป็นที่ทราบกันในตัวคนหรือกลุ่มคน ถูกปรับเปลี่ยนและจัดการอย่างเป็นระบบ (Knowledge Management) เพื่อรักษาองค์กรไว้ ซึ่งจะต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้ ให้ความรู้ทั้งหลายนั้นกลายเป็นความรู้ที่เกิดประ โยชน์สำหรับคนทั้งองค์กร เพื่อการก้าวเข้าสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) เพราะ “ความรู้” คือ “อำนาจ”

2.ความรู้และการจัดการความรู้
(1.) ความหมายของความรู้
ความรู้ คือ อะไร?
คำว่า ความรู้ (Knowledge) นั้น ในทัศนะของฮอสเปอร์ (อ้างถึงในมาโนช เวชพันธ์ 2532, 15-16) นับเป็นขั้นแรกของพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการจดจำ ซึ่งอาจจะโดยการนึกได้ มองเห็นได้ หรือ ได้ฟัง ความรู้นี้ เป็นหนึ่งในขั้นตอนของการเรียนรู้ โดยประกอบไปด้วยคำจำกัดความหรือความหมาย ข้อเท็จจริง ทฤษฎี กฎ โครงสร้าง วิธีการแก้ไขปัญหา และมาตรฐานเป็นต้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ความรู้เป็นเรื่องของการจำอะไรได้ ระลึกได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความคิดที่ซับซ้อนหรือใช้ความสามารถของสมองมากนัก ด้วยเหตุนี้ การจำได้จึงถือว่าเป็น กระบวนการที่สำคัญในทางจิตวิทยา และเป็นขั้นตอนที่นำไปสู่พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเข้าใจ การนำความรู้ไปใช้ในการวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การประเมินผล ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ได้ใช้ความคิดและความ สามารถทางสมองมากขึ้นเป็นลำดับ ส่วนความเข้าใจ (Comprehension) นั้น ฮอสเปอร์ ชี้ให้เห็นว่า เป็นขั้นตอนต่อมาจากความรู้ โดยเป็นขั้นตอนที่จะต้องใช้ความสามารถของสมองและทักษะในชั้นที่สูงขึ้น จนถึงระดับของการสื่อความหมาย ซึ่งอาจเป็นไปได้โดยการใช้ปากเปล่า ข้อเขียน ภาษา หรือการใช้สัญลักษณ์ โดยมักเกิดขึ้นหลังจากที่บุคคลได้รับข่าวสารต่าง ๆ แล้ว อาจจะโดยการฟัง การเห็น การได้ยิน หรือเขียน แล้วแสดงออกมาในรูปของการใช้ทักษะหรือการแปลความหมายต่าง ๆ เช่น การบรรยายข่าวสารที่ได้ยินมาโดยคำพูดของตนเอง หรือการแปลความหมายจากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่ง โดยคงความหมายเดิมเอาไว้ หรืออาจเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อสรุปหรือการคาดคะเนก็ได้


Davenport & Prusak ได้ให้นิยามความรู้ว่า "ความรู้คือส่วนผสมที่เลื่อนไหลของประสบการณ์ที่ได้รับการวางโครงร่าง, เป็นคุณค่าต่างๆ, ข้อมูลในเชิงบริบท, และความเข้าใจอย่างถ่องแท้ที่ชำนาญการ ซึ่งได้นำเสนอกรอบหรือโครงร่างอันหนึ่งขึ้นมา เพื่อการประเมินและการรวบรวมประสบการณ์และข้อมูลใหม่ ๆ มันให้กำเนิดและถูกประยุกต์ใช้ในใจของบรรดาผู้รู้ทั้งหลาย ในองค์กรต่าง ๆ บ่อยครั้ง มันได้รับการฝังตรึงไม่เพียงอยู่ในเอกสารต่าง ๆ หรือในคลังความรู้เท่านั้น แต่ยังอยู่ในงานประจำ, กระบวนการ, การปฏิบัติ และบรรทัดฐานขององค์กรด้วย"
ในหนังสือ “Working Knowledge: How Organization Manage What They Know” โดย ดาเวนพอร์ต ที เอ็ช และ แอล พรูสัก (Davenport, T. H., และ L. Prusak, Boston: Havard Business School Press) อ้างถึงใน องค์กรแห่งความรู้ จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ หน้า 17 ของ รศ.ดร.ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ ว่า ความรู้ คือ “กรอบของการผสานระหว่างประสบการณ์ ค่านิยม ความรอบรู้ในบริบท และความรู้แจ้งอย่างช่ำชอง ซึ่งจะเป็นกรอบสำหรับประเมินค่า และการนำประสบการณ์สารสนเทศใหม่ ๆ มาผสมรวมด้วยกัน”

วิจารณ์ พานิช (2547 : 4-5) ได้ให้ความหมายของความรู้ไว้หลายทัศนะ ดังนี้ ความรู้ คือ สิ่งที่เมื่อนำไปใช้ จะไม่หมดหรือสึกหรอแต่จะยิ่งงอกเงย หรืองอกงามขึ้น กล่าวคือ
1) ความรู้ คือ สารสนเทศที่นำไปสู่การปฏิบัติ
2) ความรู้เป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้
3) ความรู้เกิดขึ้น ณ จุดที่ต้องการใช้ความรู้นั้น
4) ความรู้เป็นสิ่งที่ขึ้นกับบริบท และกระตุ้นให้เกิดขึ้นโดยความต้องการ
เกษม วัฒนชัย (2544 : 39) กล่าวว่า ความรู้ หมายถึง การรวบรวมความคิดของมนุษย์จัดให้เป็นหมวดหมู่และประมวลสาระที่สอดคล้องกัน โดยนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ดังนั้นสิ่งที่เป็นสาระในระบบข้อมูลข่าวสาร คือความรู้ ความรู้ใหม่ต้องสร้างขึ้น บนฐานของความรู้เดิมที่มีอยู่ ความรู้ใหม่จึงเกิดจากฐานการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่
เซงเก้ (Senge. 1990:3) กล่าวว่า ความรู้ หมายถึง ความสามารถที่นำไปสู่การกระทำที่มีประสิทธิภาพ

สรุปได้ว่า ความรู้ หมายถึง กรอบของการประสมประสานระหว่างประสบการณ์ค่านิยม ความรอบรู้ในบริบท และความรู้แจ้งอย่างช่ำชอง เป็นการประสมประสานที่ให้กรอบสำหรับการประเมินค่า และการนำเอาประสบการณ์กับสารสนเทศใหม่ ๆ มาผสมรวมเข้าด้วยกัน ให้เกิดขึ้น โดยถูกนำไปประยุกต์ได้ โดยบุคคล อาศัยข้อมูล ทักษะ และประสบการณ์ที่มีอยู่เป็นส่วนสนับสนุนการตัดสินใจไปสู่องค์กร หรือจากองค์กรไปสู่องค์กร
(2.) องค์ประกอบของความรู้ ประกอบด้วย
1. เป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือ และสามารถเปลี่ยนแปลง
2. สามารถตัดสินได้
3. เป็นสิ่งที่ได้จากประสบการณ์
4. เป็นสิ่งที่มีคุณค่า คาดคะเนได้ และเชื่อถือได้
5. เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความคิด ความฉลาด
(3) ธรรมชาติและประเภทของความรู้
ความรู้มีอยู่ทั่วไปในส่วนที่ฝังอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) และอยู่ภายนอกตัวคน (Explicit Knowledge) ซึ่งได้มีการบันทึกเก็บไว้ในหน่วยบันทึกความรู้รูปแบบบาง ๆ เช่น คู่มือ ตำรา หรือแฝงอยู่ในองค์กร ตัวผลิตภัณฑ์ และกระบวนการทำงานและการเรียนรู้ ซึ่งความรู้เหล่านี้จะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อบุคคล สถาบัน และสังคม ในบรรดาปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการพัฒนานั้น ความรู้ทั้งในส่วนที่เป็นของปัจเจกบุคคลและของสถาบัน ถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง การมีการบริหารจัดการความรู้ที่ดีย่อมทำให้บุคคล สถาบัน และสังคม ได้รับประโยชน์จากความรู้อย่างเต็มที่ และในการที่จะบริหารจัดการความรู้ให้มีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้และเข้าใจในธรรมชาติของความรู้

เจ้าของความรู้ นายกู้เกียรติ ญาติเสมอ

ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการพิเศษ
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการแก้ปัญหาเกี่ยวกับ การทำงานที่ไม่มีประสบการณ์/ไม่มีทักษะความรู้พื้นฐานมาก่อนเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ ปี2549
สถานที่เกิดเหตุการณ์ กรมการพัฒนาชุมชน
เมื่อต้นปี พ.ศ. 2549 ผมย้ายการปฏิบัติราชการจากจังหวัดอุดรธานีมาปฏิบัติราชการที่กรมการพัฒนาชุมชน (กทม.)โดยได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักวิชาการพัฒนาชุมชน 7 ว สำนักส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน รับผิดชอบงานนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน คำรับรองการปฏิบัติราชการซึ่งบอกตรงๆว่างานที่กล่าวมาทั้งหมดผมไม่เคยทำหรือมีประสบการณ์มาก่อนเลยแม้แต่น้อยและงานสำคัญที่ผมถือว่าเป็นงานยากและไม่เคยสัมผัสตั้งแต่ทำงานมากว่า 15 ปี นั่นก็คือ งานวางระบบการจัดการความรู้ของกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งในปีดังกล่าว สำนักงาน กพร. กำหนดเป็นตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการประจำปี และกำหนดเป็นตัวชี้วัดบังคับ ในมิติที่ 4 การพัฒนาองค์กร โดยมีตัวชี้วัดย่อยอีก 3 ตัวพ่วงท้ายมาอีกด้วย ลำพังตัวชี้วัดเดียว ผมมือใหม่เอามากๆๆก็หืดขึ้นคอแล้ว และที่สำคัญปีนั้นเป็นปีแรกที่กรมการพัฒนาชุมชนดำเนินงานจัดการความรู้(KNOWLEDGE MANAGEMENT: KM) อย่างเป็นระบบ สถานการณ์ขณะนั้นบีบหัวใจผมเอาการอยู่ เนื่องจากได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานใหม่ของกรมฯ งานใหม่ของสำนักฯและที่น่าตกใจ คือเป็นงานใหม่เอี่ยมสำหรับผม ซึ่งไม่มีความรู้พื้นฐานมาก่อนแม้แต่น้อย หากมีข้อผิดพลาดหรือตัวชี้วัดระบบการจัดการความรู้ที่ว่านี้ไม่สำเร็จหรือไม่เป็นไปตามเป้าหมายของผู้บังคับบัญชา ที่ตั้งไว้ อะไรจะเกิดขึ้น เป็นโจทย์ที่ยากสุดๆ สำหรับผม ณ ขณะนั้น และนี่เป็นจุดตั้งต้นที่ผมตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะฟันฝ่าอุปสรรคและปัญหาเหล่านี้ให้ได้แม้จะใช้เวลาหรือความพยายามมากน้อยแค่ไหนก็ตามที เมื่อรับงานการวางระบบการจัดการความรู้มาอย่างเต็มตัวแล้ว ประเด็นแรกของผมในการศึกษางานที่ว่านี้ คือ สืบค้นแฟ้มงานที่คนอยู่ก่อนหน้าทำเอาไว้ ผมอ่านเอกสารในแฟ้มตั้งแต่โครงการ รายละเอียดงบประมาณ ขั้นตอนการดำเนินงาน และเป้าหมายทั้งเชิงผลผลิตและเชิงคุณภาพ ตัวชี้วัดกิจกรรม อ่านแม้กระทั้งบันทึกเสนอต่างๆที่แสดงความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนงาน สิ่งที่ผมได้เรียนรู้คือขั้นตอนการทำงานของโครงการที่ผู้ยกร่างโครงการทำใว้ก่อนผมย้ายมา แต่ก็ไม่แน่ใจนักว่าเมื่อทำตามขั้นตอนของโครงการแล้วระบบการจัดการความรู้ของกรมการพัฒนาชุมชนจะสำเร็จแต่อย่างน้อยก็เป็นแนวทางที่ผ่านการคิดและไตร่ตรองมาพอสมควรแล้ว การศึกษารายละเอียดโครงการจากแฟ้มที่คนเก่าทำไว้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะเห็นภาพรวมของโครงการทั้งหมด แต่หากผู้รับผิดชอบ ไม่เข้าใจงานอย่างลึกซึ้ง
ก็จะเป็นปัญหาไม่รู้จบเช่นเดียวกัน ผมตระหนักปัญหานี้ดีจึงแสวงหาตำหรับ ตำราเรื่องการจัดการความรู้มาอ่านและศึกษาอย่างจริงๆจังๆ ผมหมดเงินไปนับพันบาทในการไปหาซื้อหนังสือประเภท HOW TO ด้านKM มาอ่าน การทำอย่างนี้ทำให้ผมมีความรู้ด้านการจัดการความรู้ที่กว้างขวางขึ้นจากตำราดังกล่าวแต่ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกคือ มีทฤษฎีมากมายแล้วปฏิบัติอย่างไร KM จึงจะเกิดเป็นรูปธรรมในกรมการพัฒนาชุมชน ผมนำความรู้ในแฟ้มงานที่กล่าวมาข้างต้นเชื่อมโยงกับตำราที่ซื้อมาอ่าน (แม้บางเล่มจะเขียนคนละทิศละทางก็ตามที) ทำให้เริ่มเดินงานอย่างคนมีข้อมูลแล้ว เกิดความมั่นใจมากขึ้น ในห้วงเวลานั้นคำถามที่ผมพบบ่อยคือ KM ที่เป็นรูปธรรมเป็นอย่างไร และทำอย่างไรให้สำเร็จ คนในองค์กรเก่งขึ้น งานมีคุณภาพ(เป้าหมาย KM) จังหวะเดียวกันนั้นผู้บังคับบัญชาตัดสินใจจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อมาวางระบบการจัดการความรู้โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นกลยุทธ์การพัฒนางานอย่างหนึ่งในกรณีขาดผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง การเอ้าท์ซอส องค์ความรู้จากภายนอกสามารถแก้ปัญหาและเอื้อให้บุคลากรเกิดการเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆที่บริษัท ผู้เชี่ยวชาญมาพัฒนาต่อยอดให้ ผมยิ่งมั่นใจมากขึ้นเมื่อมีระบบพี่เลี้ยงมาเกื้อหนุน บริษัทที่ปรึกษาดำเนินการสร้างการเรียนรู้โดยทำเวริ์คช็อป ให้เราลองปฏิบัติทุกขั้นตอนผมเริ่มเข้าใจ KM มากขึ้นการได้ฝึกปฏิบัติก่อนแล้ววิทยากรพี่เลี้ยงจึงสรุปหลักการภายหลังเป็นวิธีการที่ทำให้เราเข้าใจกระบวนการและวิธีการมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตลอดการฝึกปฏิบัตินั้นไม่มีการนั่งฟังบรรยายเป็นเวลานานเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทำให้ได้ข้อสรุปว่า การเรียนรู้เรื่อง KM จะเกิดผลดีต้องทำไปเรียนรู้ไปเท่านั้น การจัดกิจกรรมของบริษัทที่ปรึกษาจากการสังเกต พบว่ามีตั้งแต่การ สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายด้วยเกมส์/กิจกรรม การวางตัวของวิทยากร และการใช้สื่อที่สามารถเชื่อมโยงให้เห็นในการปฏิบัติจริงได้ ที่สำคัญการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้ผมเรียนรู้และเข้าใจมากขึ้นว่าการจัดการความรู้ คืออะไร ความรู้ที่เราจะจัดการหมายถึงอะไร มีขั้นตอนอย่างไร และนี่เป็นการเรียนรู้เนื้องานที่รับผิดชอบได้ดียิ่งขึ้น หลังการฝึกอบรม กรมฯและบริษัทที่ปรึกษามอบภารกิจให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกลับไปจัดเก็บความรู้ โดยใช้ทักษะที่ฝึกปฏิบัติจากการอบรมดังกล่าว เป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ไปสู่การปฏิบัติจริง ในการรับผิดชอบงานจัดการความรู้นอกจากผมใช้การศึกษากระบวนงานจากแฟ้มเอกสาร สอบถามเรียนรู้กับผู้รับผิดชอบงานเดิม การศึกษาเพิ่มเติมหลักการต่างๆจากตำราหรือเอกสารแนวทาง การหาพี่เลี้ยงที่ชำนาญหรือเชี่ยวชาญและการต้องลงมือฝึกปฏิบัติจริง จึงเป็นเครื่องมือและวิธีการที่ทำให้ผมทำงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้อย่างเข้าใจมากขึ้น ในขณะเดียวกันการจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญมาเป็นที่ปรึกษาครั้งนี้ผมได้เรียนรู้ทุกขั้นตอนของการก้าวเดินของที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิดด้วยการสังเกต บันทึก ติดตามตลอดทุกกิจกรรม ผมบันทึก รวบรวม ไว้ทั้งหมด ตั้งแต่ กิจกรรม เครื่องมือ เทคนิคการนำเสนอ สื่อต่างๆ และเคล็ดลับการสร้างการเรียนรู้ รวมทั้งติดตามผู้เชี่ยวชาญไปฝึกปฎิบัติทุกขั้นตอนทุกครั้งที่ไปดำเนินการ การจดบันทึกเป็นเครื่องมือแกะรอยการทำงานของผู้เชี่ยวชาญได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมนำประสบการณ์ที่ได้จากกระบวนการพัฒนาตนเองตามที่เล่ามาทั้งหมด มาเป็นกรอบและกระบวนการในการดำเนินงาน KM ของกรมการพัฒนาชุมชน นับจากวันนั้นเป็นต้นมาและเมื่อถึงปลายปีงบประมาณ ผลการประเมินการจัดการความรู้ของกรมการพัฒนาชุมชน ผ่านการประเมิน ได้ 5 คะแนนเต็ม พร้อมมีหลักฐานเชิงประจักษ์ครบถ้วน เกิดกระแสการพูดคุยเรื่อง KM กันมากขึ้น ผมรู้สึกดีใจที่การลงทุนทั้งเวลา งบประมาณ ที่สนับสนุนให้กรมฯมีระบบการจัดการความรู้เกิดผลสำเร็จในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นปีแรกที่กรมการพัฒนาชุมชนวางระบบ KM อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากผลงานผ่านการประเมินของ สำนักงาน กพร. แล้ว ผมภูมิใจที่การพัฒนาตนเองของผมให้เรียนรู้งานใหม่ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนเกิดความรู้และทักษะด้านการจัดการความรู้มากกว่าเดิม เข้าใจ และสามารถปฏิบัติได้ และที่สำคัญสามารถถ่ายทอดทั้งกระบวนการ เทคนิควิธี ของการจัดการความรู้ ได้เป็นอย่างดี จนปัจจุบัน ผมมีโอกาสได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร KM ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนและชุมชน รวมทั้งมหาวิทยาลัย ที่ผมก้าวเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย จากความสำเร็จนี้ทำให้ผมทีทัศนคติที่ดีกับงานใหม่ๆที่ไม่เคยทำและท้าทาย เสมือนเครื่องมือที่ทำให้ผมต้องกล้าที่จะเรียนรู้และพัฒนาทั้งทักษะความรู้จนเกิดเป็นความชำนาญและสามารถแก้ปัญหาในงานได้ในที่สุด
ขุมความรู้1. สืบค้นรายละเอียดงานจากแฟ้มงาน(ความเป็นมา/เรื่องเดิม/แนวทาง)และศึกษาให้ชัดเจน2. สืบค้นข้อมูล/พูดคุยกับผู้ที่รับผิดชอบเดิม(ที่มีประสบการณ์มาก่อน)3. จดบันทึกกระบวนการ/ขั้นตอน/วิธีการจากผู้รู้หรือผู้รับผิดชอบเดิม4. ศึกษาเอกสารตำราเพิ่มเติมเพื่อความลึกซึ้งและมองภาพรวมจากความรู้ที่เป็นสากล5. ฝึกปฏิบัติ ทำไปเรียนรู้ไปแก้ปัญหาไป บันทึกข้อผิดพลาด/วิธีการแก้ปัญหาได้สำเร็จ6. เชื่อมโยงหลักการตามตำรากับสถานการณ์และผู้เชี่ยวชาญ7. สร้างและใช้ระบบพี่เลี้ยงหรือเอ้าท์ซอส ความรู้จากภายนอกแก่นความรู้1. ไฝ่เรียนรู้(ด้วยตนเอง)2. ฝึกปฏิบัติ(ทักษะ)จริงจัง3. ตำราวิชาการหนุนเสริมความเข้าใจ4. สร้างระบบพี่เลี้ยงหรือมีทีมที่ปรึกษากลยุทธ์“ใฝ่รู้ ลองทำ นำหลักการ ประสานคนเก่ง เร่งสร้างระบบพี่เลี้ยง “

แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องแนวคิดด้านการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง การสร้างความรู้ และการพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ

เทคนิคเรื่อง การขับเคลื่อนเรื่องแผนชุมชนสู่การพัฒนาแบบบูรณาการ


เจ้าขององค์ความรู้ นายศรศิษฏ์ ทนทาน
แก้ไขปัญหา ความเชื่อ ความศรัทธา ในการแก้ไขปัญหาต้องมาจาก
พื้นที่ที่มีแผนชุมชน
นายศรศิษฎ์ ทนทาน(เทพพิทักษ์) อายุ 51 ปี เป็นคนดั้งเดิมมาจากจังหวัดพะเยา มาสร้างครอบครัว อยู่ที่บ้านสุขสวัสดิ์ หมู่ที่ 13 ตำบลในคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อปี 2525 ถือว่าเป็นนักพัฒนาชาวบ้านที่มีอะไรพลิกสถานการณ์ปรับเปลี่ยน บนกระบวนการคิดของเวทีชาวบ้านเสมอๆ ในฐานะนักวิชาการพัฒนาชุมชนในเขตพื้นที่ได้มาแนะนำตนเองและทำความรู้จักเมื่อมารับราชการในพื้นที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์ เพราะเจ้าหน้าที่ของสำนักงานพัฒนาชุมชนระดับจังหวัด จะพูดถึงบุคคลๆนี้เสมอ เมื่อมารู้จักและพูดคุยแล้วต้องยอมรับว่า คุณศรศิษฎ์ เป็นบุคคลที่อยู่ในแวดวง ของนักพัฒนาชาวบ้านที่อยู่กับพื้นที่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนโยกย้ายตนเองเหมือนข้าราชการทั่วไป บุคลิกเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนเสมอๆแต่เป็นคนตรงไปตรงมา ต้องขออนุญาตนำประวัติพอสังเขปให้รู้จักกับคุณศรศิษฎ์ มากขึ้น ท่านเป็นอาสาสมัครพัฒนาชุมชนเมื่อปี พ.ศ.2536 เป็นผู้นำอาสาสมัครพัฒนาชุมชนตำบลในคลองบางปลากดปี 2541- 2544 ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนดีเด่นปี 2543 เป็นผู้นำที่ขับเคลื่อนศูนย์ประสานงานองค์กรชุม ปี 2544 เป็นผู้นำเสนอแนวคิดการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านต้องใช้แนวทางการบริหารจัดการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตในแวดวงของนักพัฒนา เป็นผู้นำในการจดทะเบียนสมาคมผู้นำอาสาสมัครพัฒนาชุมชนและสมาคมกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จังหวัดสมุทรปราการ ปี 2545 เป็นผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านจังหวัดสมุทรปราการรับตำแหน่งเป็นเลขา ปี 2546 ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านสุขสวัสดิ์ ปี 2548 ได้รับประกาศเกรียติคุณเป็นผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยม(ผู้ใหญ่บ้านแหนบทอง) ปลายปี 2548 นำกองทุนหมู่บ้านผ่านการประเมินยกฐานะเป็นธนาคารแห่งแรกของ จังหวัดสมุทรปราการ ปี 2548 -2549 ร่วมกับอาจารย์มหาลัยและภาคีเครือข่ายทำงานวิจัยเรื่ององค์กรการเงิน ร่วมกับทีมงาน ดร.ครูชบ ยอดแก้ว สงขลา,คุณสามารถ พุธทา ลำปาง,พระอาจารย์สุบิน ตราด ,คุณพัชรี ประธานเครือตำบลกองทุนหมู่บ้าน ตำบลกระหรอ นครสีธรรมราช เมื่อมาดูประวัติพอสังเขปต้องยอมรับว่าท่านผู้ใหญ่ต้องมีองค์ความรู้และเป็นองค์ความที่อยู่ในระดับท้าทายว่าการขับเคลื่อนเรื่องแผนชุมชนสู่การพัฒนาแบบบูรณาการได้จริงหรือ....
ผู่ใหญ่ศรศิษฎ์บอกว่า การขับเคลื่อนเรื่องแผนชุมชนสู่การพัฒนาแบบบูรณาการ ต้องทำความเข้าใจ คำว่าแผนชุมชน กับการบูรณาการ แผนชุมชน ตามหลักวิชาการก่อน
แผนชุมชน หมายถึง กิจกรรมพัฒนาที่เกิดขึ้นจากคนในชุมชนที่มีการรวมตัวกันเพื่อจัดทำแผนขึ้นมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่นของตนเอง ให้เป็นไปตามความต้องการและสามารถแก้ไขปัญหาที่ชุมชนเผชิญอยู่ร่วมกันได้ โดยคนในชุมได้ร่วมกันคิด ร่วมกันกำหนดแนวทางและทรัพยากร ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ซึ่งบางกิจกรรมชุมชนสามารถแก้ไขได้เองด้วยความร่วมมือของในชุมชนเองทั้งหมดด้วยความร่วมมือกันลงมือทำและเสียสละ บางกิจกรรมต้องขอความร่วมมือกับกับภาคที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขบางส่วนและบางกิจกรรมชุมชนไม่สามารที่จะแก้ไขได้เกินความสามารถต้องประสานกับท้องถิ่นหรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา แผนชุมชนมีชื่อเรียกกันแตกต่างกันไปตามความเข้าใจของท้องถิ่นและผู้นำเสนอในเวทีเพื่อความหยืดหยุ่นและการประสานงาน อาทิ แผนแม่บทชุมชน, แผนชุมชนพึ่งตนเอง, แผนชีวิต,แผนชุมชน, แผนพัฒนาหมู่บ้านและแผนเพื่อประสานกับท้องถิ่น
การบูรณาการ แผนชุมชน หมายถึง วิธีการร่วมมือกันทำงานของหน่วยงานสนับสนุนพัฒนาภายนอกชุมชนทุกภาคส่วน โดยยึดหลักการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ชาวบ้านเป็นเจ้าของเรื่อง โดยใช้กระบวนการจัดทำแผนชุมชนเป็นเครื่องมือดำเนินกิจกรรมพัฒนาให้เป็นไปคามความต้องการของประชาชน มากกว่าวัตถุประสงค์ของหน่วยงานสนับสนุน มีทั้งบูรณาการด้านบุคลากร กระบวนการและเครื่องมือ แผนงานและงบประมาณ
ดังนั้นการขับเคลื่อนเรื่องแผนชุมชนสู่การพัฒนาแบบบูรณาการ เป็นไปได้ไม่ยากนักถ้าหน่วยงานสนับสนุนและท้องถิ่น ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นศูนย์กลาง และผู้นำแต่ละพื้นที่ต้องทุ่มเทเสียสละและไม่ชิงการนำ ชิงการได้เปรียบของการเมืองระดับพื้นที่ ส่วนหน่วยงานต้องไม่ชิงพื้นที่ว่าเป็นของหน่วยงานไหนเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายในการแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง
ความเชื่อความศรัทธา คือปัญหาที่ต้องเร่งสร้างให้กลับมาในหมู่นักพัฒนา,หน่วยงานสนับสนุนและท้องถิ่น ถ้าทุกภาคส่วนยังมีอัตตาสูงเมื่อนั้นการพัฒนาแห่งความยั่งยืนไม่เกิดขึ้นแน่
แต่วันนี้ในฐานะที่เป็นผู้นำ ได้ทำในสิ่งที่ชาวบ้านให้ทำนำกระบวนการมีส่วนร่วมมาเปิดเวทีคิด เวทีคุย เวทีแก้ไขปัญหา เวทีแห่งการวางแผนพัฒนาและร่วมกันตัดสินใจ มาอย่างต่อเนื่องจากที่ไม่ได้รับการยอมรับ ก็ได้รับการยอมรับ จากที่นำแผนไปเสนอและพูดคุยถูกปฏิเสธเสมอๆกับมาชื่นชมและมักถูกยกเป็นตัวอย่างเสมอๆ จากการที่แสวงหา งบประมาณไม่ได้ กับไม่อยากได้งบประมาณที่ไม่เป็นความต้องของชาวบ้านมาดำเนินการ จากความไม่เชื่อ ไม่มีความศรัทธา แต่สิ่งที่เอ่ยออกมากลับเป็นความชื่นชม และเอาไปเป็นแบบอย่าง วันนี้ความสำเร็จไม่ใช่อยู่ที่ตัวเอง อยู่ที่ชาวบ้านสุขสวัสดิ์ เป็นผู้ทำความฝันของตนเองในการคิดในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติที่เรียกว่าแผนชุมชน หรือแผนพัฒนาหมู่บ้านไปสู่แผนพัฒนาตำบลและปัจจุบันนี้จากจุดนี้ขยายผลของแผนปฏิบัติการของ องค์การบริหารส่วนตำบลในคลองบางปลากด ของหมู่บ้านนี้ร้อยเปอร์เซ็นมาจากแผนชุมชน และยังขยายผลไปสู่หมู่บ้านอื่นๆได้ระดับหนึ่ง
วันนี้แนวคิดการขับเคลื่อนเรื่องแผนชุมชนสู่การพัฒนาแบบบูรณาการขององค์การบริหารส่วนตำบลในคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ได้ก้าวไปอีกระดับหนึ่งแล้ว ด้วยวิสัยทัศน์ ของผู้บริหาร ด้วยการทำงานที่มีการปรับเปลี่ยนของเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งเคยเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมการพัฒนาชุมชน วันนี้ที่นี่กำลังก้าวเดินไปบนกรอบยุทธศาสตร์ของกระทรวงมหาดไทยในการบูรณาการแผนชุมชน ไปสู่ตัวชี้วัดแห่งความสำเร็จที่มีกรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นและกรมการพัฒนาชุมชนอยากเห็นและยากให้เป็นความสุขของชาวบ้านอย่างแท้จริง
วิธีการ (ปฎิบัติตน)
1. มีเวลาให้กับกิจกรรมส่วนรวม
2. ใฝ่ศึกษาหาความรู้และเป็นนักไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท
3. เปิดเวทีได้ทุกโอกาสสถานที่ในการพูดคุยเรื่องที่ใหม่ๆกับสถานการณ์เปลี่ยนแปลง
4. อ่อนน้อมถ่อมตน และปิดหู ปิดตา ปิดปาก ในบางโอกาส ที่ไม่เอื้ออำนวย และ เหมาะสม
5. ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายเป็นเพื่อนและผูกมิตรได้กับคนทุกระดับ
6. ยกย่องเชิดชูเพื่อนร่วมงานและชาวบ้านอยู่เสมอๆ
7. สร้างบรรยากาศที่เคร่งเครียดของการวิเคราะห์ปัญหาเป็นเรื่องไม่มีปัญหา
8. ทำตัวอยู่หลังภาพแห่งความสำเร็จ ความสวยงามที่เกิดกับสังคมที่เข้าไปมีส่วนร่วม
9. ใช้หลักธรรมนำชีวิต หิริ ความละอายแก่ใจ โอตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาป
จากเทคนิคการทำงานและปฎิบัติตน ของ ผู้ใหญ่ศรศิษฎ์ จนเป็นที่ยอม ชื่นชมและศรัทธาของชาวบ้านสุขสวัสดิ์แล้ว กลุ่มองค์กรต่างๆเชิญชวนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการตามหลักของประชาธิปไตยเสมอๆ แต่ผู้ใหญ่ไม่เข้ารับการสรรหาเพื่อดำรงตำแหน่งในกลุ่มองค์กรต่างๆในช่วงปี 2530 -2553 แต่ด้วยจิตและวิญาณของการห่วงเพื่อนๆพี่น้องๆที่แบกสัมภาระของสังคมก็อดห่วงไม่ได้ เวทีแต่ละเวทีที่เป็นของภาคีเครือข่ายจะปรากฏตัวเองเพื่อเรียนรู้ แลกเปลี่ยนอยู่เสมอต้นเสมอปลาย ไม่เคยขาดเมื่อได้รับเชิญ
แต่งานที่เป็นการบริหารกึ่งวิชาการส่งเสริมสนับสนุนและปกครอง ที่ผู้ใหญ่ยังรับตำแหน่ง
ประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้านสุขสวัสดิ์ ,ประธานสถาบันการเงินบ้านสุขสวัสดิ์,รองประธานคณะกรรมการกองทุนสุขภาพระดับตำบล, คณะกรมการบริหารศูนย์การศึกนอกโรงเรียนเรียนอำเภอพระสมุทรเจดีย์,คณะการกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอำเภอ,คณะอนุกรรมการส่งเสริม ติดตามจัดตั้งกองทุนทุนหมู่บ้านระดับจังหวัด,คณะกรรมการประเมินมาตรฐานแผนชุมชนระดับจังหวัด,คณะอนุกรรมการควบคุม มาตรฐานสถานพยาล ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ จังหวัดสมุทรปราการ,คณะอนุกรรมการจัดทำแผนแม่บทชุมชนพึงตนเองของสถาบันพัฒนาองค์การมหาชน จังหวัดสมุทรปราการ
ขุมความรู้
1. เป็นแบบอย่างที่ดี,มีจิตอาสา ยังพาผลประโยชน์ให้เกิดกับส่วนรวม
2. ทำไปเรียนรู้ไป แก้ไขปัญหาไป
3. ให้เกียรติและความสำคัญกับทีมงาน
4. ให้ความสำคัญกำคนเก่งทุกระดับ
5. เป็นนักประสานงานที่ดีมีมนุษย์สัมพันธ์ ,นักประชาสัมพันธ์,เป็นนักจุดประกายขาย
ความคิดและขยายผล
6. เชื่อมโยงหลักการตามตำรากับสถานการณ์เฉพะหน้าให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนร่วม
7. เป็นผู้เอื้ออำนวยส่งเสริมความเข้มแข็งของหมู่บ้าน
8. ตื่นตัวอยู่เสมอๆมีความสามารถในการตัดสินใจ จูงใจ มีความรอบรู้ทันเหตุการณ์
แก่นความรู้
1. หมั่นสร้างเวทีร่วมคิดได้ทุกโอกาส
2. มีจิตอาสา ยังพาประโยชน์ส่วนร่วมคือความสุขของตนเอง
3. ให้คำปรึกษาและไกล่เกลี่ย ประนอมข้อพิพาท
4. สร้างความศรัทธาและเชื่อมั่น
5. นำพาผลประโยชน์ที่เกิดจากแผนกับสู่ชุมชนด้วยหลักธรรมาภิบาล
กลยุทธ์
กล้าพูดในสิ่งที่ทำ กล้านำในสิ่งที่เป็นมติจากเวทีประชาคม หมั่นชื่นชม ให้เกียรติและยกย่องทีมงานและภาคีการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ
แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
*บทบาทของผู้นำ
*ภาวะของผู้นำ
*ผู้นำที่ที่มีประสิทธิภาพ

*********************

ความรู้เรื่อง เทคนิคการปฏิบัติงานเรื่องศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนให้เข้มแข็ง


เจ้าของความรู้ นางอรษา เศวตจามร
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ การบริหารงาน แก้ปัญหากระบวนการทำงาน ศอช.ต.

ศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลบางด้วน ทำหน้าที่ในการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่าง ผู้นำ – กลุ่ม –องค์กร เช่น ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.) กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ - กองทุนสวัสดิการชุมชน – กองทุนหมู่บ้าน – กลุ่มผลิตฯ อาสาสมัครสาธารณสุข – กรรมการหมู่บ้าน (กม.) สมาชิกสภาตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล และองค์กรอื่นๆ นอกพื้นที่ ตำบล – อำเภอ อื่นๆ ประสานสัมพันธ์กับภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดพลังชุมชนที่เข้มแข็ง พึงพาตนเองอย่างมั่นคง บูรณาการกิจกรรม การพัฒนาไปตามบริบทของหมู่บ้าน – ตำบล – ชุมชน โดยให้มีส่วนราชการ - รัฐวิสาหกิจ – องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้การส่งเสริม สนับสนุน การดำเนินการอย่างเหมาะสม
ภารกิจ การแก้ปัญหา เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมและสะท้อนปัญหา ไปสู่หน่วยงาน– หรือองค์กรภาคอื่น ๆ
ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนได้อย่างลงตัว ดำเนินกิจกรรมด้วยความราบรื่น – รวดเร็ว
ช่วยเหลือสนับสนุนการทำงานของผู้นำกลุ่มองค์กร
ศูนย์ประสานงานองค์การชุมชน ตำบลบางด้วน ดำเนินการจัดประชุมประชาคมโดยพัฒนากร ท่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ดำเนินการเลือกสรรประชาชน เข้ามาเป็น คณะทำงานได้ 15 คน และเริ่มดำเนินการจัดประชุม ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2551 เป็นการจัดทำแผนพัฒนา –จัดทำโครงการปัญหายาเสพติด – สิ่งแวดล้อม - ปัญหาความยากจน – จัดทำกิจกรรมรายได้สนับสนุน
และต่อมาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2551 ได้จัดการประชุมร่วม ระหว่าง ศอช.ต. ผู้นำชุมชน - กลุ่มออมทรัพย์ – ฌาปณกิจสงเคราะห์ กองทุนสวัสดิการชุมชน สมาชิกสภาตำบล ผู้นำ อช. – กองทุนหมู่บ้าน – สตรี - กลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน เข้าร่วมประชุม เพื่อร่างระเบียบ – ข้อบังคับ ของ ศอช. ต. โดยเรียนเชิญท่านวิทม สมใจ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางด้วนเป็นประธานเปิดการประชุมแต่ท่านติดภารกิจ ได้มอบหมายภารกิจให้ท่านชาญชัย ชาติทองคำ ประธานสภาตำบลบางด้วนมาเป็นประธานเปิดการประชุมแทน และประธาน ศอช.ต. ได้รายงานผลการดำเนินงานให้ทราบ จากที่ได้จัดทำโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด – จัดอบรมมัคคุเทศน้อย จัดตั้งเสียงตามสาย – จัดทำผู้สูงอายุไปศึกษาแสวงบุญไหว้พระ 9 วัด สิงห์บุรี – อ่างทอง – อยุธยา –ซื้อคอมพิวเตอร์ – เครื่องถ่ายเอกสารบริการประชาชนราคาถูก ตั้งมูลค่างบประมาณเสนอกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า จำนวนเงิน 270,000.-บาท และได้รับการอนุมัติและดำเนินการเป็นที่เรียบร้อย 1 โครงการ
การพัฒนาผู้นำ
คณะกรรมการของศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลบางด้วน ได้มาจากการประชุมประชาคม ผู้นำชุมชนทุกองค์กรทุกหมู่บ้าน จากผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 108 คน
กาติดต่อสื่อสารกับหน่วยงาน เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จากความร่วมมือ ก่อให้เกิดการบริการดีรวดเร็ว รวมถึง
การประสานแผนความร่วมมือในทุกกิจกรรม – ที่จะของบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆ ได้ดีมาก
การพัฒนาด้านความร่วมมือของเครือข่ายภายในตำบลคือการประสานความร่วมมือระหว่างสมาคมฌาปณกิจสงเคราะห์ กองทุนสวัสดิการชุมชน – กองทุนหมู่บ้าน – กองทุนแก้ไขปัญหาความยากจน กข.คจ. โดยมีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเป็นแกนนำในการยกระดับขึ้นเป็นสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนตำบลบางด้วน อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรปราการ
สร้างความประทับใจให้กับทุกคนที่รับทราบผลความก้าวหน้าขององค์กรการเงินชุมชนที่ชาวบ้าน จำนวน 800 กว่าคน นำเงินมารวมกัน ได้ยกระดับความเข้มแข็งเสมือนองค์การการเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
การแก้ไขปัญหาต่างๆ ของ ศอช.ต. ในด้านการสนับสนุนงบประมาณจากส่วนราชการเพื่อการขับเคลื่อนก็คือการพึ่งตนเอง จัดหากลยุทธในการขับเคลื่อนร่วมกับองค์กรต่างๆ ตั้งเป้าหมายการพัฒนาบนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง
ส่งเสริมให้ผู้ที่ประสงค์จะสร้างอาชีพประกอบอาชีพเสริมรายได้จากการเลี้ยงปลา –เลี้ยงกบ จากแหล่งเงินทุน เช่น กองทุนพัฒนาไฟฟ้า หรือ สถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน บางรายจัดซื้อตู้น้ำดื่มมาให้บริการ บางรายทำดอกไม้ประดิษฐ์ – ดอกไม้จันทน์ – พวงหรีดเคารพศพชนิดผ้า และชนิดภาชนะของใช้ ในครัวเมื่อแล้วเสร็จพิธี มีกลุ่มเกษตรนวัตกรรม ปลูกผัก – เพาะเห็ดไร้สาร – ไร้ดิน ไว้บริโภคเองเหลือขาย
ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้คนในชุมชนใฝ่หาแหล่งเรียนรู้ในชุมชน มาประดิษฐ์สินค้าหลากหลายรูปแบบมาก ศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนสนับสนุนในการให้ฐานข้อมูลเพื่อการเรียนรู้และนำไปปฎิบัติเพื่อเพิ่มรายได้






วิธีการ (เทคนิคการปฎิบัติ)
1.การบริหารงานที่สำคัญคือการแก้ไขปัญหาสำคัญเร่งด่วน
2.กระบวนการทำงาร่วมกับประชาชน
3.การประสานความร่วมมือระหว่าง กลุ่ม / องค์กรชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และ อปท.
เพื่อช่วยเหลือ / สนับสนุนการทำงานของผู้นำชุมชน / กลุ่มองค์กร
4.สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ ร่วมกันระหว่างภาคประชาชนและภาครัฐ
5.นำไปสู่ความร่วมมือกับ อปท. ทั้งในระดับตำบล (อบต.) และระดับจังหวัด (อบจ.) ตาม
ศักยภาพและบริบทของชุมชนที่แตกต่างกัน
ขุมความรู้
1.ประสบผลสำเร็จเป็นตัวอย่าง
2.รวบรวมปัญหา วิเคราะห์ จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาสข้อจำกัด
3.ให้ความรู้ ทัศนศึกษาดูงาน กลุ่มองค์กรต่างๆ เพื่อประยุกต์นำมาใช้
4.แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ
5.ปฎิบัติงาน กิจกรรม ประสานของบประมาณจากภายนอก
6.ประเมินผล
7.ประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชน และหน่วยงานได้ทราบผลงาน
แก่นความรู้
1.เป็นต้นแบบ
2.ให้ความรู้ ทัศนศึกษาดูงาน
3.ประสานงาน แบ่งหน้าที่
4.คิดและแก้ปัญหาด้วยตนเอง
5.บูรณาการกองทุนในชุมชน
กลยุทธ
เป็นต้นแบบ ศูนย์กลางเรียนรู้ของกลุ่มองค์กรภายในตำบลอย่างแท้จริง
แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
เป็นศูนย์ที่จัดประชุม เพื่อประชาสัมพันธ์การดำเนินงานให้ประชาชนทุกหมู่บ้านในตำบล ได้รู้จักว่า ศอช.ต. คือใคร ตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร

ความรู้เรื่อง เทคนิคการทำงานพัฒนาชุมชนในเขตเมือง


เจ้าของความรู้ นายฐานวัฒน์ ธนัตย์จิระพร
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพระสมุทรเจดีย์
เบอร์โทรศัพท์ 086-564-2157
เป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ ปัญหายาเสพติด
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ 2525
สถานที่เกิดเหตุการณ์ จ.ชลบุรี

ข้าพเจ้าได้รับคัดเลือกจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดชลบุรี ให้รับผิดชอบโครงการบ้านสวนแสนสุข ซึ่งเป็นโครงการร่วมกับสำนักงาน ปปส. แก้ไขปัญหายาเสพติดในเขตเมืองเน้นการปกครองเขตสุขาภิบาล กลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชน 120 คน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยการจัดทำค่ายเยาวชน 7 วัน 6 คืน ของกรมการพัฒนาชุมชน และมีหลักการทำงานดังนี้
1. ศึกษาพื้นที่เป็นเขตการปกครองสุขาภิบาล นอกเขตการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน โดยทำความเข้าใจกับทีมงานสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองชลบุรี ถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ
2. ประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้สมาชิก ผู้บริหารสุขาภิบาลทั้งหมด ทำความเข้าใจ ทำเวทีประชาคมของหมู่บ้าน จำนวน 10 หมู่บ้าน แต่งตั้งกรรมการหมู่บ้านในเขตเมือง แล้วอบรมให้ความรู้ 3 วัน ถึงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด โดยมอบหมายภารกิจกรรมการหมู่บ้านพิจารณากลุ่มเป้าหมาย 15-25 ปี ที่จัดว่าเสี่ยงจะติดยาเสพติด ผู้ใหญ่ 12 คน รวม 120 คน เข้าค่ายฝึกอบรม โดยเน้นให้ผู้นำเป็นเจ้าหน้าที่ร่วมกันรับผิดชอบทุกขั้นตอน
3. เมื่อเสร็จสิ้นการฝึกอบรมแล้ว มอบหมายให้เยาวชนขยายผลรณรงค์แก้ไขปัญหายาเสพติด โดยผู้นำของตนเอง โดยมีกรรมการหมู่บ้านและผู้นำเป็นพี่เลี้ยงคอยให้ความช่วยเหลือ
4. มีการสอนงานอาชีพต่าง ๆ ที่น่าสนใจ
5. ต้องให้ผู้นำและกรรมการหมู่บ้านเห็นความสำคัญมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนจึงจะได้ความร่วมมือ ร่วมใจ มองเห็นปัญหายาเสพติดในเยาวชน เป็นการแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง

ขุมความรู้
1. ศึกษาพื้นที่สร้างความเข้าใจ
2. ประชุมแกนนำต่อเนื่อง
3. หาพี่เลี้ยงร่วมดำเนินการ


แก่นความรู้
1. ศึกษาหาพื้นที่
2. มีส่วนร่วม
3. พี่เลี้ยงสนับสนุน

กลยุทธ์
ศึกษาพื้นที่มีส่วนร่วม

ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
การศึกษาชุมชน / การมีส่วนร่วม

ความรู้เรื่อง การจัดเก็บข้อมูล จปฐ.ในพื้นที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์


เจ้าของความรู้ นางสาวปวีณรัตน์ บุตรวงศ์
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพระสมุทรเจดีย์
เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวก 0-2453-7144
แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ การจัดเก็บข้อมูล จปฐ.ให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเสร็จทันตามกำหนดเวลา
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น พ.ศ. 2552 อำเภอพระสมุทรเจดีย์
การจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน(จปฐ.) เป็นงานนโยบายกระทรวงมหาดไทยที่มอบหมาย ให้กรมการพัฒนาชุมชน รับผิดชอบดำเนินการจัดเก็บข้อมูลเป็นประจำทุกปี ซึ่งการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. จะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานบริหารการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ระดับจังหวัด ระดับอำเภอและระดับตำบล เป็นทีมงานขับเคลื่อนการจัดเก็บข้อมูลและประมวลผลเป็นภาพรวมที่แสดงให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนในแต่ละปี เดือนมิถุนายน 2552 ข้าพเจ้าถูกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพระสมุทรเจดีย์ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ไม่ดีนัก เพราะมีคนหลายๆ คนเคยบอกเล่าว่าพื้นที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์ทำงานยาก บางพื้นที่ต้องเดินทางด้วยเรือและบางวันมีน้ำทะเลหนุนท่วมถนนทางเข้าอำเภอทำให้การเดินทางลำบาก เป็นน้ำเค็มกลัวว่ารถจะผุพังเร็ว และผู้คนอยู่ในเขตเมืองไม่มีเวลาร่วมกิจกรรม แต่ด้วยที่ว่าเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอพระสมุทรเจดีย์ชุดเดิม 3 คน ได้ย้าย ลาออก และเกษียณราชการก่อนกำหนด ทั้ง 3 คน จังหวัดจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนชุดใหม่ 2 คนลงพื้นที่เหมือนลงไปงมเข็มในมหาสมุทรยังไง ยังงั้นแต่อีกนัยหนึ่งก็เหมือนเป็นการท้าทายความสามารถ การจัดเก็บข้อมูล จปฐ. เป็นภารกิจหนึ่งที่สำนักงานพัฒนาชุมชน ต้องประสานการจัดเก็บข้อมูลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เป็นประจำทุกปี ระยะเวลาในการจัดเก็บข้อมูลและบันทึกข้อมูลประมาณ 3 เดือน ซึ่งน้อยมากในสำหรับการที่จะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน สำหรับในเขตพื้นที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์ เป็นพื้นที่ติดกับทะเลมีลำคลองผ่านหมู่บ้าน ชาวบ้านต้องเดินทางด้วยเรือ หรือพื้นที่บางตำบลก็อยู่ติดเขตกับกรุงเทพมหานคร แต่ละพื้นที่อยู่ห่างไกลอำเภอ การเดินทางต้องใช้เวลานาน ส่วนที่อยู่ใกล้อำเภอก็จะพบปัญหาประชากรแฝง ชุมชนแออัด บ้านเช่า จราจรติดขัด การที่ข้าพเจ้าได้มาปฏิบัติงานตรงนี้ จึงต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นเพราะยังไม่รู้ว่าพื้นที่แต่ละหมู่บ้าน/ตำบล อยู่ที่ไหนต้องเดินทางไปมาอย่างไรซึ่งในช่วงแรกจึงต้องศึกษาชุมชนและศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนซึ่งมีความหลากหลาย และพบว่าผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม อาชีพรอง คือการประมง ได้แก่ เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา เลี้ยงหอยแครง การที่คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมทำให้ไม่มีเวลาเข้าร่วมกิจกรรมหรือร่วมประชุมกับหน่วยงานต่างๆ ในวันทำการ การจัดประชุมส่วนใหญ่จึงต้องเป็นช่วงเลิกงานตอนเย็นหรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือเวลาที่ชาวบ้านสะดวก ฉะนั้นจึงต้องมีการวางแผนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบเพราะถ้าอย่างนั้นจะทำให้เสียทั้งเวลาและงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ จากการที่ได้ลงพบปะ พูดคุยหรือสอบถามข้อมูลจากผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้นำอช./อช.ผู้นำชุมชน และกลุ่ม/องค์กรต่างๆ ในพื้นที่ ในการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ซึ่งในปีที่ผ่านมาการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ล่าช้ามากไม่ทันตามกำหนด จากการพูดคุยทำให้ทราบว่า ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำส่วนใหญ่รู้ว่ามีการจัดเก็บข้อมูล จปฐ.ทุกปี แต่เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บ ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำ ไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่แรก และอีกอย่างคือมีความขัดแย้งทางความคิดกันจึงไม่ให้ความร่วมมือ อปท.จัดประชุม ผู้ใหญ่บ้านก็ไม่เข้าร่วมประชุม เมื่อมีการบันทึกและประมวลผลข้อมูล จปฐ. ข้อมูลจึงไม่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายปกครองหมู่บ้าน มีการถกเถียง โต้แย้งกัน เพื่อให้การดำเนินการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. เป็นไปด้วยความถูกต้อง สมบูรณ์ได้ข้อมูลจากพื้นที่อย่างแท้จริงจึงได้กำหนดการดำเนินงาน ดังนี้
1. การวางแผนการปฏิบัติงานและการประชุม
1.1 ปรึกษาหารือกับพัฒนาการอำเภอร่วมกันวางแผนและจัดทำแผนปฏิบัติงานเพื่อลงไปสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่
1.2 ทำหนังสือแจ้งหน่วยงานภาคีพัฒนา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้รับทราบกำหนดระยะเวลา และการสนับสนุนงบประมาณการจัดเก็บข้อมูล จปฐ.
1.3 แต่งตั้งคณะทำงานบริหารการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ระดับอำเภอ ระดับตำบล เพื่อสนับสนุนการจัดเก็บข้อมูลฯ
1.4 จัดประชุมคณะทำงานบริหารการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ระดับอำเภอ ระดับตำบล และอาสาสมัครโดยการประชุมเป็นรายตำบล และฉายวีดีทัศน์การจัดเก็บข้อมูลให้ดู
2. การจัดเก็บข้อมูล จปฐ.
2.1 การจัดเก็บข้อมูล จปฐ.ในพื้นที่ห่างไกลและเดินทางด้วยเรือ ต้องมีการเตรียมการตั้งแต่เนิ่นๆ การจัดประชุมชี้แจงและจัดเก็บ ต้องทำก่อนที่อื่น ซึ่งต้องประสานกำนัน/ผู้ใหญ่บ้านให้คัดเลือกอาสาสมัครที่มีจิตอาสาจริงๆ เสียสละและอดทน โดยแบ่งเป็นโซนหมู่บ้านเพราะบ้านริมคลองอยู่แบบกระจัดกระจาย ให้แต่ละคนรับผิดชอบ มอบหมายให้ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำชุมชนช่วยเหลือสนับสนุน และหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องติดตามอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรับทราบถึงปัญหาอุปสรรค และช่วยกันแก้ไข
2.2 การจัดเก็บข้อมูล จปฐ.ในพื้นที่เขตเมือง ด้วยสภาพของสังคมเมือง และอุตสาหกรรม การจัดเก็บข้อมูลค่อนข้างเจอปัญหาเพราะไม่มีคนอยู่บ้านในวันธรรมดา จะพบกับคนแก่ และเด็ก อยู่บ้านบางคนก็ให้ข้อมูลได้ บางคนก็บอกไม่รู้ หรือไม่ให้ข้อมูลก็มี ซึ่งปัญหาตรงนี้แต่ก่อน อปท.จะจัดหาเด็กว่างานมาจัดเก็บข้อมูลซึ่งอาจจะอยู่นอกหมู่บ้านทำให้เก็บข้อมูลไม่ได้ ตามข้อเท็จจริง และสถานการณ์ทางการเมืองค่อนข้างร้อนแรงแบ่งพรรคแบ่งพวก ถ้าไม่ใช่พวกตนเองมาเก็บข้อมูลก็จะปิดประตู ฉะนั้นในการแก้ไขปัญหาจึงต้องคัดเลือกอาสาสมัครจัดเก็บข้อมูลให้ครอบคลุมทุกฝ่าย และคัดเลือกคนในหมู่บ้านมาเป็นอาสาสมัคร เพราะคนในหมู่บ้านรู้ข้อมูลหมู่บ้านดีกว่าคนอื่น สามารถทำงานวันหยุดได้และติดตามได้ง่าย
3. สนับสนุนการบันทึกและประมวลผล โดยการจัดประชุมเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลเป็นรายตำบล ให้คำแนะนำวิธีลงโปรแกรม การบันทึกข้อมูล วิธีการแก้ไขปัญหาโปรแกรมติดขัดหรือมีปัญหา และติดตามบันทึกข้อมูลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องโดยทางโทรศัพท์ และลงไปช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ จากการที่ทุกฝ่ายได้มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน จากที่พบปัญหาอุปสรรคมากมาย ก็ได้ร่วมกันหาและปรับแนวทางในการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมและรับรู้ในขั้นตอนการดำเนินงานการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ตั้งแต่แรกเริ่มทำให้ปัญหาการจัดเก็บข้อมูล จปฐ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และส่งไม่ทันตามและได้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน สมบูรณ์ และส่งไม่ทันตามกำหนดก็หมดเกิดจากการวางแผนการทำงานร่วมกันของทุกขั้นตอน อย่างเป็นระบบ ขุมความรู้ 1. ศึกษาชุมชน 2. วิถีชีวิตของชุมชน 3. คณะทำงานทุกภาคส่วน 3. การจัดประชุม 5. ปัญหาอุปสรรค
แก่นความรู้ 1. การมีส่วนร่วม 2. การวางแผนการปฏิบัติงาน 3. ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน 4. การแลกเปลี่ยน
กลยุทธ์ในการทำงาน 1. การเตรียมการและวางแผน 2. การประสานงานและการสื่อสาร 3. การสนับสนุนการดำเนินงาน 4. การติดตาม
กฎระเบียบ แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง การมีส่วนร่วม

ความรู้เรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ


เจ้าของความรู้ นางกัญญา จุฑามณี
ตำแหน่ง พัฒนาการอำเภอบางเสาธง
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางเสาธง
เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวก 084-7593600
เป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ ความไม่ชัดเจนในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและการนำไปใช้ในวิถีชีวิต
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ ปี 2550
สถานที่เกิดเหตุการณ์ จังหวัดสมุทรปราการ

ในปี 2550 เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ประกอบกับรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดนโยบายขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นรากฐานการดำรงชีวิตของประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนและระดับประเทศมุ่งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การนำความรู้ไปขยายผลในพื้นที่ให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกับมุ่งส่งเสริมการสร้างสิ่งแวดล้อมของชุมชนให้น่าอยู่ประชาชนมีวิถีชีวิตอย่างสังคมอยู่เย็นเป็นสุข
จังหวัดสมุทรปราการดำเนินการคัดเลือกหมู่บ้านเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 80 หมู่บ้าน จาก 5 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ โดยกำหนดการดำเนินงานแบ่งเป็น 4 กิจกรรม คือ 1) การประชุมชี้แจงการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิตและการจัดการหมู่บ้านสะอาดน่าอยู่ให้กับแกนนำชุมชน สมาชิก อบต. กำนัน , ผู้ใหญ่บ้าน , ผู้นำ อช. , อช. , องค์กรสตรี , ประธานกลุ่มอาชีพ OTOP ฯลฯ 2) จัดมหกรรมอาชีพ แก้จน จำนวน 30 อาชีพ ให้กับครัวเรือนยากจนในหมู่บ้านเป้าหมาย 3) สนับสนุนกิจกรรมทางเลือกด้านอาชีพแก่ครัวเรือนยากจนในหมู่บ้านเป้าหมาย 4) การคัดเลือก / มอบรางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการและได้รับความร่วมมือจาก คณะวิทยากร ได้แก่ นายกิติศักดิ์ สินธุวนิช รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ , นายอัครวัฒน์ อัศวเหม รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ , ดร. ธันวา จิตต์สงวน อนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง รองอธิการบดีฝ่ายโครงการพิเศษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และ นายอเนก เพ็งสุพรรณ ปราชญ์ชาวบ้านจากอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในการบรรยายเรื่อง “การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติ” การดำเนินงานของจังหวัดมีการติดตาม / ประเมินผลโดยมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติและคณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งในการติดตามผลรายอำเภอใช้เกณฑ์ตัวชี้วัดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง 6X2 ของกรมการพัฒนาชุมชนเป็นเครื่องมือหนึ่งในการวัดผลความก้าวหน้า ในด้านการประชาสัมพันธ์มีการออกสปอร์ตการให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงทางวิทยุชุมชน สื่อสารสิ่งพิมพ์ภายในจังหวัด มีการจัดทำป้ายไวนิล แผ่นพับประชาสัมพันธ์ในทุกพื้นที่ ปัญหาที่ต้องแก้ไข

ขณะดำเนินการต้องให้ความระมัดระวัง อาทิ กิจกรรมการประชุมชี้แจงฯ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
กระบวนการที่ใช้ คือ การบรรยาย / การอภิปรายบนเวทีในห้องประชุมใหญ่ ไม่มีการถ่ายทอดโทรทัศน์วงจรปิด ทำให้คนที่นั่งด้านหลังไม่เห็นและได้ยินไม่ชัดเจน ปัญหานี้แก้ไขโดยการจัดทีมงานออกไปบรรยายเป็นรายอำเภอ การทำแผ่น CD-ROM เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแจก อีกกรณีหนึ่งที่ต้องให้ความระมัดระวังก็คือเรื่องระยะเวลาการดำเนินงานซึ่งมีเวลาจำกัดไม่สมดุลกับจำนวนกิจกรรมและการที่จะเห็นผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ทำให้ต้องขออนุมัติขยายระยะเวลาการดำเนินงานออกไปอีก 2 เดือนและมีกิจกรรมเสริมต่อเพื่อความต่อเนื่องให้เกิดการพัฒนาในระยะยาวในลักษณะ “สร้างเพื่อน สร้างเครือข่าย”
หลังจากการดำเนินงานเสร็จสิ้น ปรากฏว่า ประชาชนในหมู่บ้านเป้าหมายเกิดความตื่นตัวที่จะน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งในระดับตนเอง ครอบครัวและชุมชน เช่น การจัดทำบัญชีรับจ่ายครัวเรือน รู้จักการออม ลด ละ เลิกอบายมุข การสอนบุตรหลานให้ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงมีความเอื้ออาทร นำภูมิปัญญาและทรัพยากรชุมชนมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ การมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการมีอาชีพเสริม ความผาสุขของครอบครัวหลังจากนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ ทำให้ครัวเรือน / ชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรมมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก

ขุมความรู้ (Knowledge Assets)
1.การค้นหาข้อมูล รวบรวมข้อมูล วางแผน เตรียมความพร้อมในการทำงาน ประสานงาน
ชี้แจงทำความเข้าใจกับทีมงาน เพื่อสร้างความเข้าใจและมองเป้าหมายเดียวกัน
2. การดำเนินงานมีความเชื่อมโยงและส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทั้งในระดับแกนนำชุมชนและ
ประชาชนในหมู่บ้านก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
3. ติดตามผลการดำเนินงานทุกระยะ ถ้ามีข้อผิดพลาดจะได้ปรับปรุงแก้ไขได้ทันเหตุการณ์และทำให้ประสิทธิผลการทำงานบรรลุเป้าหมายได้ง่ายยิ่งขึ้น
4. การเผยแพร่ข่าวสารในทุกช่องทาง ทุกรูปแบบให้ถึงประชาชนในทุกพื้นที่ของจังหวัดให้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนรับรู้ เกิดความตื่นตัวที่จะน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในวิถีชีวิตของตนเอง
แก่นความรู้ (Core Competency)
1.การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ
2. การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รัฐ เอกชน องค์กรเครือข่าย
3. การติดตาม ประเมินผล
4. การประชาสัมพันธ์

กลยุทธ์ในการทำงาน
1. การชี้แจงทำความเข้าใจ
2. การประสานงาน สร้างความคุ้นเคยกับทุกภาคส่วน
3. การรายงานผลให้ผู้บังคับบัญชารับทราบเป็นระยะ

กฎระเบียบ แนวคิด ทฤษฏีที่เกี่ยวข้อง
แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ความรู้เรื่อง เทคนิคการทำงานพัฒนากรในเขตชุมชนเมือง


เจ้าของความรู้ นายจุฬา บุญเย็น
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางเสาธง
เบอร์โทรศัพท์ 084-123-0981 , 0-2707-1633
เป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ การให้ความร่วมมือในการทำงานของผู้นำชุมชน
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ 2546
สถานที่เกิดเหตุการณ์ จังหวัดสมุทรปราการ

ปี 2546 ข้าพเจ้าย้ายมาจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์มาปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ มีความกังวลใจในการปฏิบัติงานเนื่องจากข้าพเจ้าเคยทำงานเฉพาะต่างจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ชนบท จึงมีความวิตกเรื่องการให้ความร่วมมือของผู้นำชุมชนและสภาพพื้นที่เขตเมืองที่มีทั้งคนและรถยนต์ตลอดจนเส้นทางในการเดินทางไปปฏิบัติงาน รวมถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ เพราะคิดว่าคนในเขตชุมชนเมืองน่าจะมีความรู้ความสามารถเนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งสถานศึกษาที่ดี ๆ
เมื่อเดินทางมาปฏิบัติงานที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ สิ่งที่สร้างความประทับใจแรกก็คือ เพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชามีความเป็นกันเองและให้กำลังใจกับเพื่อร่วมงานใหม่และคอยแนะนำเรื่องต่าง ๆ เช่น สถานที่ บุคคลสำคัญ สภาพพื้นที่ งานหรือกิจกรรมของอำเภอที่ดำเนินการ
การดำเนินงานในพื้นที่สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ
1. ต้องมีพัฒนากรเดิมหรือคนที่อยู่ในอำเภอพาไปแนะนำพื้นที่และผู้นำฯ เนื่องจากคนเดิมจะมีความคุ้นเคยกันมาก่อนทำให้คนใหม่ได้ข้อมูลเรื่องสภาพพื้นที่และผู้นำชุมชนแต่ละคนเป็นอย่างไร (พอสังเขป)
2. เมื่อรู้จักคน สถานที่ แล้วต้องหมั่นเข้าไปหา เช่น พูดคุย ประสานงานในเบื้องต้นไม่ควรจะใช้โทรศัพท์สอบถามข้อมูลเรื่องงาน ควรจะเดินทางไปพบด้วยตนเองเพื่อจะให้ความสำคัญกับผู้นำชุมชน
3. การทำงาน พช. ในการนัดประชุม / จัดเวทีต่าง ๆ ส่วนใหญ่ประชาชนในเขตชุมชนเมืองจะไม่ค่อยมีเวลาถ้าเป็นไปได้ พัฒนากรควรสละเวลาในวันเสาร์ – อาทิตย์ เพราะจะได้ความร่วมมือจากผู้นำชุมชนและประชาชนมากขึ้น
4. การดำเนินงานพัฒนาชุมชนในชุมชน/หมู่บ้าน จะต้องหาผู้นำที่มีความสนิทเป็นพิเศษไว้ในแต่ละหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อเวลามีปัญหาหนัก ๆ แก้ไขยาก ๆ จะได้หาข้อมูลในเชิงลึก(ข้อมูลที่เปิดเผยได้)
5. ศึกษาข้อมูลในเชิงลึกกับผู้นำที่สนิท(ไว้ใจได้) ว่าคนในพื้นที่หรือหน่วยงานในพื้นที่ คิดยังไงกับพัฒนากรหรือพัฒนาชุมชน เพื่อจะได้ปรับกระบวน / วิธีการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ได้
การทำงานพัฒนากรในเขตเมืองหรือชนบท สิ่งสำคัญคือความตั้งใจ ความสนใจ ทั้งงาน พช.และผู้นำชุมชน และมีการศึกษาข้อมูลในเรื่องงาน / ความรู้รอบตัวให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ โดยพร้อมที่จะพัฒนา “คน” และพัฒนา “ตัวพัฒนากร” ตลอดเวลา

ขุมความรู้
1. แสวงหาพี่เลี้ยง / พัฒนากรเก่า
2. ทำความคุ้นเคยกับคนในชุมชน
3. เสียสละโดยเฉพาะเวลาของเจ้าหน้าที่
4. หาคนในชุมชนรู้ใจทำงานร่วม
5. ศึกษาหาข้อมูลเชิงลึก

แก่นความรู้
1. พี่เลี้ยงสอนแนะนำเข้าหาชุมชน
2. สร้างความคุ้นเคย
3. เสียสละ
4. เจาะลึกข้อมูล

กลยุทธ์
หาพี่เลี้ยง สร้างความคุ้นเคย เจาะลึกข้อมูล

ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
1. การทำงานแบบมีส่วนร่วม
2. หลักการพัฒนาชุมชน

วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

ความรู้เรื่อง เทคนิคการพัฒนาภาวะผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ในการพัฒนาชุมชน


ชื่อ-นามสกุล นางสาวสุริสา วรอานันท์
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางบ่อ
เบอร์โทรศัพท์ 083-268-8838
เป็นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับ ผู้นำรุ่นใหม่ไม่กล้าแสดงออกหรือไม่มีภาวะการนำ
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ ปี 2552
สถานที่เกิดเหตุการณ์ บ้านคลองบางพลีน้อย หมู่ที่ 6 ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ เดือนมิถุนายน 2552 โดยข้าพเจ้าได้รับคำสั่งให้ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางบ่อ และได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ”พออยู่ พอกิน” ซึ่งเป้าหมายในการดำเนินงาน คือ บ้านคลองบางพลีน้อย หมู่ที่ 6 ตำบลบางพลีน้อย
ข้าพเจ้าได้เริ่มปฏิบัติการโดยการจัดประชุมครัวเรือนเป้าหมาย และในการประชุมครั้งนั้นข้าพเจ้าได้ขอให้ตัวแทนชาวบ้าน ช่วยสรุปผลการดำเนินงานของหมู่บ้านที่ผ่านมา เนื่องจากข้าพเจ้าได้รับข้อมูลจากท่านพัฒนาอำเภอบางบ่อในขณะนั้น(นางจินดา รัตนพันธ์) ว่าหมู่บ้านนี้เคยได้รับงบประมาณสนับสนุนงบประมาณในปี 2550 จำนวน 100,000 บาท ให้ดำเนินการหมู่บ้านพอเพียง ผลปรากฏว่าไม่มีใครกล้าออกมาสรุป แต่กับกลายเป็นว่าต่างคนต่างแย่งกันเล่า ทำให้ข้าพเจ้าทราบว่า หมู่บ้านคลองบางพลีน้อยแห่งนี้มีความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในระดับหนึ่ง ถ้าจะต่อยอดให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ”พออยู่ พอกิน” ก็ไม่น่าจะยาก เนื่องจากสามารถปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ แต่หมู่บ้านนี้มีปัญหาในเรื่องไม่มีผู้นำที่จะนำเสนอผลงานให้กับบุคคลอื่นได้เรียนรู้ ข้าพเจ้าจึงมีแนวความคิดที่จะสร้างผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ขึ้นมา เพื่อที่จะสามารถถ่ายทอดขั้นตอนและผลการดำเนินงาน รวมถึงความรู้ต่าง ๆที่มีอยู่ในหมู่บ้าน โดยมีเป้าหมายจะส่งเสริมให้บ้านคลองบางพลีน้อยเป็นทั้งหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบและต่อยอดเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้วย
เมื่อตัดสินใจจะสร้างผู้นำชุมชนรุ่นใหม่แล้ว ก็มีปัญหาว่า แล้วผู้นำคนนั้นจะเป็นใคร และปัญหานี้ก็มีทางออก เมื่อข้าพเจ้าพบผู้นำคนนี้ จากการที่ข้าพเจ้าได้นำครัวเรือนเป้าหมายเข้ารับการอบรมหลักสูตรการพัฒนากสิกรรมธรรมชาติสู่เศรษฐกิจพอเพียง ที่สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงมหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ วิทยาเขตบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา มีผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมกิจกรรมอยู่ 3-4 คน ที่มีคุณสมบัติเหมือนกับที่ข้าพเจ้าคาดหวัง และที่โดดเด่นมาก คือ น้องใกล้รุ่ง แสงทอง เนื่องจากใกล้รุ่ง แสดงให้เห็นว่าสามารถซึมซับแนวคิด หลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมุ่งมั่นที่จะนำแนวคิดนี้ปฏิบัติอย่างจริงจัง



ข้าพเจ้าเริ่มปฏิบัติการโดยประกบน้องใกล้รุ่ง แบบตัวต่อตัว โดยในการดำเนินการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง และขยายผลศูนย์การเรียนรู้ชุมชนจะมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็นระยะ ๆ เมื่อดำเนินการจัดเวทีในแต่ละครั้งข้าพเจ้าพูดคุย แลกเปลี่ยนกับใกล้รุ่ง เสมอว่าในเวทีแต่ละครั้งใกล้รุ่ง ได้เรียนรู้เรื่องอะไร และตรงกับวัตถุประสงค์ในการจัดหรือไม่ มีอะไรที่ยังอยากเรียนรู้เพิ่มเติม จะได้นำมาพูดคุยกันในเวทีครั้งต่อไป และบอกให้ใกล้รุ่งกลับไปเขียนบันทึกไว้กันลืม ซึ่งในการจัดเวทีแต่ละครั้งข้าพเจ้าจะกระตุ้นให้ตัวแทนครัวเรือนได้ออกมาสรุปผลเวทีครั้งที่ผ่านมาให้กับเพื่อนฟังประมาณ 3-4 คน เสมอ แรก ๆก็มีการเกี่ยงกันเล็กน้อย เลยต้องชี้ให้ออกมาพูดน้องใกล้รุ่งก็เป็นเป้าหมายที่ข้าพเจ้าให้ออกมาพูด เมื่อข้าพเจ้าเห็นว่าน้องใกล้รุ่ง รวมทั้งผู้นำชุมชนคนอื่น ๆ มีปัญหาในการพูด ข้าพเจ้าได้ประชาสัมพันธ์ระบบมาตรฐานงานชุมชน(มชช.) ซึ่งเป็นระบบที่ต้องการพัฒนาคุณภาพของคนให้เป็นที่ยอมรับ และชี้ให้เค้าเห็นถึงประโยชน์ว่าเมื่อสมัคร มชช.แล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ปรากฏว่าน้องใกล้รุ่งและผู้นำอีก 5 คน รวมเป็น 6 คน สมัครเข้าสู่ระบบ มชช. ประเภทผู้นำชุมชน ซึ่งข้าพเจ้าในฐานะพัฒนากรผู้รับผิดชอบงาน มชช.ก็จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการพูดต่อหน้าชุมชน และเมื่อสรุปในแต่ละเวทีก็จะให้ผู้นำทั้ง 6 คน ในเป็นคนออกมาสรุป เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ เป็นการพัฒนาตนเองอีกทางหนึ่ง ซึ่งในแต่ละเวทีน้องใกล้รุ่งทำได้โดดเด่นและเริ่มเป็นที่ยอมรับ เนื่องจากนำประสบการณ์จริงที่ได้จากโครงการฯ มาถ่ายทอดและเวทีที่พูดคุยก็เป็นคนในหมู่บ้านเอง
เมื่อบ้านคลองบางพลีน้อยได้เป็นตัวแทนของอำเภอบางบ่อเข้าร่วมการประกวดกิจกรรมหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง”อยู่เย็น เป็นสุข” ประจำปี 2553 ข้าพเจ้าได้ประชุมเพื่อวางแผนและแบ่งงานกันทำ ปรากฏว่าน้องใกล้รุ่ง ได้รับการเสนอชื่อให้สรุปผลการดำเนินงานของหมู่บ้านอย่างเป็นเอกฉันท์ ได้ออกมาพูดกับข้าพเจ้าว่าเครียดกลัวทำไม่ได้ ข้าพเจ้าพูดให้กำลังใจไปว่า น้องต้องทำได้แน่นอน เพราะในเวทีแต่ละครั้งที่มีการสรุป น้องสามารถสรุปได้ชัดเจน เป็นรูปธรรม และเป็นธรรมชาติ น้องใกล้รุ่ง บอกว่าที่ทำได้เพราะพูดกับคนในหมู่บ้าน แต่ไม่เคยพูดในเวทีอื่น ๆ เลย ข้าพเจ้าบอกให้กำลังใจ และแนะนำให้น้องทบทวนถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้ปฏิบัติจริงจากโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ รวมถึงการขยายผลศูนย์เรียนรู้ชุมชน และแบ่งประเด็นที่จะนำเสนอเป็นประเด็นหลัก ๆ ไม่ต้องอ่านตามเอกสารทั้งหมด แต่ให้พูดจากความคิด ความรู้สึก ที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติจริง จนเกิดเกิดประโยชน์ต่อตนเองและคนในหมู่บ้านรวมถึงความต้องการจะถ่ายทอดให้กับคนอื่นได้รู้ ได้แลกเปลี่ยนกัน และก่อนการประกวดให้น้องใกล้รุ่ง มาลองนำเสนอให้ฟังก่อนการประกวด
เมื่อถึงวันประกวดก่อนที่คณะกรรมการจะเดินทางมาถึง ข้าพเจ้าได้ทบทวนให้กับครัวเรือนเป้าหมายถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่หมู่บ้านคลองบางพลีน้อยได้ดำเนินการมาจากหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ”พออยู่ พอกิน” สู่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจพอเพียง มีจุดเรียนรู้ 3 ฐาน ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น มีจุดเรียนรู้อยู่ 9 จุด จนมาถึงการเข้าสู่การประกวด เมื่อข้าพเจ้า

ทบทวนเสร็จ น้องใกล้รุ่งเดินมาพูดกับข้าพเจ้าว่า “พี่หนูพูดประมาณพี่ได้ไหม” ข้าพเจ้าตอบว่าได้ซิ น้องใกล้รุ่ง ทำได้ดีอยู่แล้วล่ะ หายใจลึก ๆ ทำจิตใจให้สบาย ไม่ต้องเกร็ง ทบทวนประเด็นสำคัญ ๆ ถ่ายทอดเรื่องจริงที่ได้ปฏิบัติมา เล่าให้เค้าฟัง อยากเล่าอะไรเล่าไปเลย ไม่ต้องเครียด
เมื่อถึงเวลานำเสนอข้าพเจ้าให้น้องใกล้รุ่งนำเสนอเป็นคนสุดท้าย เนื่องจากจะได้คุ้นเคยกับคณะกรรมการ เห็นลีลาท่าทางของคนอื่น และมีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจมากขึ้น ผลปรากฏว่าเมื่อนำเสนอผลงานจบน้องทำได้ดี จนท่านพัฒนาการจังหวัดสมุทรปราการพูดเย้าว่า “เดี๋ยวกลับไปต้องตัดเงินเดือนลูกน้องโทษฐานโกหกผู้บังคับบัญชาว่าน้องพึ่งนำเสนอเป็นครั้งแรก”
ขุมความรู้
1. สืบค้นผู้นำรุ่นใหม่ที่มีหน่วยก้านและใฝ่รู้
2. สร้างความคุ้นเคย/ติดตามส่งเสริมสนับสนุนและเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้
3. กระตุ้นให้มีบทบาทและภาวะผู้นำ
4. เสริมให้เข้าสู่ระบบ มชช.
5. ให้กำลังใจและผลักดันให้กล้าแสดงออก
6. ให้โอกาสในการแสดงบทบาทผู้นำที่เด่นชัด
แก่นความรู้
1. สร้างความสนิทสนมคุ้นเคย
2. กระตุ้นให้กำลังใจ
3. เอื้ออำนวยด้วยบทบาทพี่เลี้ยง
4. ให้โอกาส
กลยุทธ์ ให้โอกาส สร้างแรงบันดาลใจ ใฝ่ส่งเสริม เติมพลังความเชี่ยวชาญ

ความรู้เรื่อง เทคนิคการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ


เจ้าของความรู้ นางสงวน มะเสนา
ตำแหน่ง หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ การทำงานให้ประสบผลสำเร็จต้องทำอย่างไร
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2528
สถานที่เกิดเหตุการณ์ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี

การได้รับ “ครุฑทองคำ” หรือการได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็น “ข้าราชการพลเรือนดีเด่น” นับว่าเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของการเป็นเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน เมื่อนั่งครุ่นคิด มองย้อนหลังไปเมื่อครั้งเริ่มต้นชีวิต การทำงาน ด้วยการเป็น เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ระดับ 1(พัฒนากรรุ่น 14) เป็นก้าวแรกในการเดินเข้าสู่ การเป็นข้าราชการใน“ครอบครัวพัฒนาชุมชน” ของข้าพเจ้า เมื่อวันที่ 1กุมภาพันธ์ 2528 ณ สำนักงาน พัฒนาชุมชน เขตที่ 4 (สพช. เขต 4) อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ปัจจุบันคือศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชน เขตที่ 4(ศพช.เขต4) ตลอดระยะเวลาที่รับการฝึกอบรมก่อนประจำการ 3 เดือนเศษ คือระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ –16 พฤษภาคม 2528 สถานที่แห่งนี้ได้ฝึกอบรม บ่มนิสัย ให้ความรู้และประสบการณ์ ในการทำงานกับประชาชน สำหรับข้าราชการใหม่ จำนวน 97 คน ซึ่งข้าพเจ้าได้เป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งในจำนวนนั้น ภายใต้คำขวัญของกรมการพัฒนาชุมชน โดยการนำของท่านอธิบดีฯ สุวนัย ทองนพ ที่ว่า “หมู่บ้าน คือ ที่อยู่รวมกันของชาวบ้านที่เขาต้องการอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุกตลอดไป ”
จากคำขวัญสั้น ๆ นี้ ไม่น่าเชื่อว่าจะทำให้เกิดกิจกรรมที่ยืนยาว และวิธีการที่มากมายหลากหลายอย่างในการทำงานพัฒนาชุมชน เพื่อจะให้ชาวบ้านเดินไปสู่เป้าหมายที่เขาต้องการ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือก่อให้เกิด“ทัศนคติที่ดีและอุดมการณ์“ ในการทำงานของข้าพเจ้า ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าตัวข้าพเจ้าเองก็เป็นลูกชาวบ้านที่ใช้ชีวิตอยู่ในชนบทที่งดงาม มีวิถีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ จึงมีความต้องการและอยากจะเห็นหมู่บ้านของเราเป็นอย่างนั้น...อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุกตลอดไป ด้วยความเชื่อมั่นในหลักและวิธีการพัฒนาชุมชน ว่าจะสามารถทำให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ข้าพเจ้าจึงมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ และมุ่งมั่นที่ “จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด“ นี่คือแรงบันดาลใจให้ต้องศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมจากการฝึกอบรมอีกมากมาย ทั้งเรียนในระบบของสถาบันการศึกษา และการเรียนรู้นอกระบบ ที่มีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมถึงระเบียบกฎหมาย ข้อมูลด้านต่าง ๆ เอกสารวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ สิ่งสำคัญที่สุดคือการได้ลงไปปฏิบัติงานจริงในตำบล หมู่บ้าน ในตำแหน่งพัฒนากรของข้าพเจ้า ในเขตพัฒนาตำบลแกดำ อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม ที่ข้าพเจ้าจะต้องทำงานร่วมมือร่วมใจกับประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่หลักของข้าราชการพัฒนาชุมชน โดยการสนับสนุน ช่วยเหลือด้านต่าง ๆ จากท่านพัฒนาการอำเภอและพี่ ๆ พัฒนากร ที่คอยให้คำแนะนำ ซึ่งมีทั้งคำตำหนิ และถูกดุบ้างเป็นบางครั้งในกรณีที่ทำงานผิดพลาด แต่ก็ไม่หวั่นไหว ไม่ท้อแท้ เพราะเป็นบทเรียนที่ล้ำค่า ท่ามกลางความภูมิใจเมื่อได้รับคำชมว่าทำงานได้ดี ในบางครั้งก็เกิดความสงสัยเหมือนกันว่า ทำไมพี่ ๆ มอบหมายงานให้เราทำมากมาย ทั้งงานในสำนักงานก็มากและยังให้รับผิดชอบ 2 ตำบลใหญ่ที่มีหลายหมู่บ้านแต่ก็ไม่เคยท้อถอยและปฏิเสธงานที่ได้รับมอบหมายแต่ประการใด และไม่เคยปริปากบ่นหรือต่อว่าพี่ ๆ ที่มอบงานให้ทำมากเช่นนั้น ยังคงตั้งหน้าตั้งตาทำงานให้เต็มกำลังความสามารถ ภายใต้การดูแลของพี่ ๆ พัฒนากรที่อบอุ่น คอยดูแลการทำงานของข้าพเจ้าไม่ทอดทิ้งให้ต่อสู้อุปสรรคอย่างเดียวดาย
จากการที่ไม่เคยเลือกงานหรือปฏิเสธงาน มีความรับผิดชอบต่องานเสมอมาได้ทำงานด้วยความเต็มใจและตั้งใจ จึงทำให้ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ให้รับผิดชอบงานสำคัญที่เป็นนโยบายหลักเสมอ ๆ จากสภาพดังกล่าวนี้ได้ส่งผลดีต่อข้าพเจ้า กล่าวคือ ทำให้ได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ตรงในการทำงานมากขึ้นได้ศึกษาค้นคว้าเนื้อหารายละเอียดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานนั้น ๆ รวมถึงการหารูปแบบวิธีการที่จะทำให้งานสำเร็จตามเป้าหมาย โดยข้าพเจ้าถือว่าการทำงานนั้น ”ทำมากได้มาก ยิ่งทำมากยิ่งรู้มาก“ คือ ได้ทั้งความรู้และประสบการณ์ที่ทรงคุณค่า
อนึ่ง ในการทำงานใด ๆ จะให้ประสบผลสำเร็จนั้น นอกจากผู้ปฏิบัติงานจะมีอุดมการณ์ที่สูงส่ง มีความเสียสละ และมีธรรมาภิบาล แล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่า ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ อีกมากมาย ตั้งแต่ระดับสูงลงมา ดังเช่น ผู้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นผู้ที่ให้โอกาสในการทำงานให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ ตลอดจนการส่งเสริม สนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมี เพื่อนร่วมงาน ภาคีพัฒนา ประชาชน เป็นผู้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานที่ช่วยเติมเต็มทั้งพลังความคิด พลังกาย และพลังใจให้งานได้ขับเคลื่อนไปสู่จุดหมาย และที่สำคัญยิ่งจะขาดไม่ได้เลย คือ ครอบครัว ที่สมาชิกครอบครัว เช่น คู่สมรส บุตร ธิดา มีความเข้าใจในหน้าที่และลักษณะงานที่เราทำ พร้อมให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ และเป็นกำลังใจ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะได้รับความร่วมมือหรือการช่วยเหลือสนับสนุนจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องข้างต้น นั้น ข้าพเจ้าได้ถือปฏิบัติในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ดังนี้
ประการแรก คือ ความจริงใจ และการให้เกียรติแก่ผู้ร่วมงาน ไม่ว่าผู้ร่วมปฏิบัติงานกับเราจะเป็นใคร จะมีตำแหน่งหน้าที่สูงต่ำเพียงใด ก็จะให้ความสำคัญกับทุกคน
ประการที่สอง คือ การทำงานที่ยึดถือระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่กระทำในสิ่งที่ผิดหรือขัดต่อระเบียบ
ประการที่สาม คือ มีความรับผิดชอบ อดทน เสียสละ ซื่อสัตย์ คุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล
ประการที่สี่ คือ การวางตัวเสมอต้นเสมอปลาย มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส มีหัวใจ นักประชาธิปไตย คือ ต้องให้ผู้อื่นมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ข้าพเจ้าพร้อมที่จะรับฟังคำติชมของผู้อื่น เพื่อจะเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองต่อไป
ประการสุดท้าย คือ การทำงานทุกครั้งทุกกิจกรรมจะต้องทำให้ดีที่สุด ซึ่งข้าพเจ้ามีคติพจน์ในการทำงาน คือ “ทำวันนี้ให้ดีที่สุด”
จากถ้อยร้อยเรียงที่กล่าวมานั้น เป็นแนวทางที่ข้าพเจ้ายึดถือในการปฏิบัติงานมาโดยตลอดเป็นระยะเวลา 22 ปีเศษ ทั้งในหน้าที่พัฒนากร นักวิชาการพัฒนาชุมชน และพัฒนาการอำเภอ ทำให้ข้าพเจ้าได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชา ได้รับการสนับสนุน ช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานและภาคีพัฒนา ได้รับความเชื่อถือศรัทธาและความร่วมมือจากประชาชน ก่อให้เกิดผลสำเร็จในการปฏิบัติงานพัฒนาชุมชน และทำให้ข้าพเจ้าได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็น“ข้าราชการพลเรือนดีเด่น”(ครุฑทองคำ) เมื่อปี พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าภาคภูมิใจมากในการเป็น ”ข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน” และข้าพเจ้าได้มีปณิธาณที่แน่วแน่ในการสืบสานการปฏิบัติหน้าที่ โดยยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม และเน้นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ให้สมกับที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม “ครุฑทองคำ”
ขุมความรู้
1. “ทัศนคติที่ดีและอุดมการณ์“
2. ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
3. ทำงานร่วมมือร่วมใจกับประชาชน
4. ไม่หวั่นไหว ไม่ท้อแท้
5. ไม่เคยท้อถอยและปฏิเสธงาน
6. ทำงานให้เต็มกำลังความสามารถ

แก่นความรู้
1. ทัศนคติที่ดี
2. ร่วมใจกับประชาชน
3. ไม่เคยท้อถอย
4. ทำงานให้เต็มกำลังความสามารถ



-------------------------------------

วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2553

ความรู้เรื่อง กลยุทธ์ในการทำงานด้านยุทธศาสตร์ของนักการเงินการบัญชี


เจ้าของเรื่อง นางสาวจันทนา วัณณะวัฒนะ
ตำแหน่ง หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ
เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับ การจัดทำคำรับรองการปฎิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553
ภายใต้เงื่อนไขของเวลาและอัตรากำลังที่จำกัด
เหตุการณ์เกิดเมื่อ วันที่ 11 มกราคม - 31 มีนาคม 2553
สถานที่เกิดเหตุการณ์ จังหวัดสมุทรปราการ
ปัจจุบันข้าพเจ้ารับราชการมาแล้วเป็นเวลาประมาณ 25 ปี ครึ่งของชีวิตรับราชการจะทำงานหรือปฎิบัติหน้าที่ที่กรมการพัฒนาชุมชนเกี่ยวกับงานของกองคลังมาโดยตลอด ซึ่งจัดได้ว่ามีความชำนาญและชัดเจนเกี่ยวกับระเบียบกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน การงบประมาณ และการทำงานในช่วงที่ผ่านมาจะทำงานในระดับอำเภอและระดับกรมฯ เท่านั้น ถึงแม้จะเคยทำงานระดับอำเภอในฐานะพัฒนากรและพัฒนาการอำเภอก็จะทำงานในเชิงปฏิบัติหรือภาคสนามมากกว่า จนกระทั่งเมื่อสอบผ่านการคัดเลือกในตำแหน่งนักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการพิเศษ กรมการพัฒนาชุมชนได้มีคำสั่งเลื่อนตำแหน่งข้าพเจ้าจากนักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานการเงิน กองคลัง เป็นนักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ โดยมารายงานตัวเมื่อวันจันทร์ที่ 11 มกราคม 2553 ซึ่งเป็นการทำงานในระดับจังหวัดครั้งแรกและด้านยุทธศาสตร์ด้วย ซึ่งหลายคนคงคิดว่าให้นักการเงินการบัญชีมาเป็นนักยุทธศาสตร์จะทำได้หรือไม่เป็นคำถามที่ติดอยู่ในใจหลายๆคน ซึ่งสำหรับคนอื่นเรื่องนี้อาจจะไม่ยากและไม่ท้าทาย แต่สำหรับข้าพเจ้า เป็นงานที่ไม่คุ้นเคย และคิดเสมอว่าจะต้องทำให้ได้เพราะทุกอย่างไม่ยากและเกินความสามรถของความพยายามและความตั้งใจ
งานแรกที่ท้าทายความสามารถก็คือ การจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ซึ่งจะต้องทำให้ทันส่งกรมฯ ภายในวันจันทร์ที่ 15 มีนาคม 2553 เพื่อลงนามคำรับรองการปฏิบัติราชการฯ ระหว่างอธิบดีฯ กับพัฒนาการจังหวัดต่อจากนั้นก็จะเป็นการลงนาม คำรับรองการปฏิบัติราชการฯ ระหว่างพัฒนาการจังหวัดกับหัวหน้ากลุ่มงาน หัวหน้าฝ่ายและพัฒนาการอำเภอและระหว่างหัวหน้ากลุ่มงาน หัวหน้าฝ่ายและพัฒนาการอำเภอ กับทีมงาน แต่สำหรับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการได้ลงนามคำรับรองการปฏิบัติราชการฯ ระหว่างพัฒนาการจังหวัดกับหัวหน้ากลุ่มงาน หัวหน้าฝ่ายและพัฒนาการอำเภอ ตั้งแต่วันจันทร์ ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553
เพื่อให้การทำงานสำเร็จ ข้าพเจ้าต้องใช้กลยุทธ์สำหรับการทำงานในครั้งนี้ โดยมีวิธีการ ดังนี้
1. สิ่งแรกที่คิดว่าต้องทำในขณะนั้น คือ ทำอย่างไรที่จะเรียนรู้ทุกอย่างภายในเวลารวดเร็วก็คือ การประชุมทีมงาน ซึ่งมีเพียงคนเดียว คือคุณจินดา รัตนพันธ์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ(ปัจจุบันเป็นพัฒนาการอำเภอพระสมุทรเจดีย์) เป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะเชื่อมระหว่างข้าพเจ้ากับงานยุทธศาสตร์ของจังหวัด และ การจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการฯ จะเป็นการประชุมเพื่อรับทราบกระบวนงานทั้งหมดของงานยุทธศาสตร์ และข้อจำกัดของกลุ่มงานแล้วรับรู้ร่วมกันและเข้าใจกันว่าต้องทำงานเป็นทีมเท่านั้นจึงจะทำให้ทำงานสำเร็จได้ ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีอะไรตรงไหนใครว่างก็ลงมือทำงานชิ้นนั้นถ้าสามารถทำได้และรับรู้ทุกเรื่องเท่ากัน
2. การศึกษาและทำความเข้าใจกับข้อมูลที่ผ่านมาจากแฟ้มเอกสาร ว่าการทำคำรับรองการปฏิบัติราชการฯ ต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง มีแก่นและสาระอะไรบ้าง โดยเฉพาะของปีงบประมาณ พ.ศ.2552 ที่ผ่านมา เพราะรายละเอียดสำคัญๆ คงไม่ต่างกันมากนัก เช่น ยุทธศาสตร์สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดการ วิเคระห์ศักยภาพของสำนักงานพัฒนาชุมชน / กิจกรรมพัฒนาชุมชน การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์และกลยุทธ์ เป็นต้น เพื่อจะได้นำมาเป็นฐานของการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการฯ ในปีนี้ 3. การศึกษารายละเอียดองค์ประกอบตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ เพื่อจะได้รู้ทิศทางการทำงานปีนี้ว่าสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดจะเน้นในประเด็นเรื่องอะไร เพื่อถ่วงค่าน้ำหนักของตัวชี้วัดและเสนอพัฒนาการจังหวัดให้ความเห็นชอบถึงทิศทางการทำงานในปีนี้
4. การประสานงานกับกลุ่มงานกลุ่มงานสารสนเทศ โดยเฉพาะหัวหน้ากลุ่มงาน (นายกู้เกียรติ ญาติเสมอ) ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานด้านนี้ เพื่อให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ เพิ่มเติม ในประเด็นหรือแง่มุมอื่นเพื่อให้ครอบคลุมมากที่สุด นอกจากนี้บางส่วนก็ต้องประสานเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบของกรมการพัฒนาชุมชน (นางยุพดี หาญอักษรณรงค์) โดยตรงเพื่อขอคำแนะนำ
5. ประชุมสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด เพื่อชี้แจงรายละเอียดของตัวชี้วัดตามคำรับรอง การปฏิบัติราชการ และตกลงร่วมกันในการรับเป้าหมายการทำงาน และลงนามคำรับรองการปฏิบัติราชการระหว่างพัฒนาการจังหวัดกับหัวหน้ากลุ่มงาน หัวหน้าฝ่ายและพัฒนาการอำเภอ
6. ประชุมทีมงานกลุ่มงานยุทธศาสตร์ฯ (หรือเรียกว่าพูดคุยกับทีมงานจึงจะเหมาะกว่า) และจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2553 ฉบับสมบูรณ์ แผนที่ยุทธศาสตร์ของสำนักงานพัฒนาชุมชน ข้อเสนอโครงการริ่เริมสร้างสรรค์ เสนอพัฒนาการจังหวัดพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้ง แล้วจึงจัดส่งให้กรมการพัฒนาชุมชนทันภายในวันจันทร์ ที่ 15 มีนาคม 2553
ข้อควรคำนึง
ในการดำเนินการดังกล่าว มีข้อควรคำนึง ดังนี้
1. ต้องมีความเข้าใจและชัดเจนในบริบทของจังหวัดนั้นๆ
2. ต้องเป็นนักประสานและเข้าใจในข้อจำกัด และใช้วิกฤตเป็นโอกาส ในการเรียนรู้งานยุทธศาสตร์
จะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหาในจุดอ่อนของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านหนึ่งมาทำงานอีกด้านหนึ่งที่ไม่ใช้หลัก “ Put the right man into the right job” เป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้บริหารต้องเข้าใจ และยอมรับในบางสิ่งบางอย่างที่อาจจะไม่สมบูรณ์นัก แต่ก็จะเป็นความภูมิใจของผู้ที่ทำงานนั้นว่า “ เราทำได้ ” และเป็นการเปิดโลกทัศน์อีกด้านหนึ่งให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่างมากว่าคำว่า “ การเงิน การคลัง ”
ขุมความรู้
1. การประชุมทีมงาน
2. ทีมงาน
3. รับรู้ร่วมกันและเข้าใจกัน
4. การศึกษาและทำความเข้าใจกับข้อมูลที่ผ่าน
5. การประสานงาน