km

km
พัฒนาชุมชนสมุทรปราการ ดำเนินงาน KM

วันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของการจัดการความรู้ระดับจังหวัด



ในการขับเคลื่อนโครงการปัจจัยแห่งความสำเร็จได้แก่


๑) ความรู้ความเข้าใจและความชัดเจน ของผู้รับผิดชอบโครงการฯ องค์ความรู้ด้านKMและกระบวนงานพร้อมเป้าหมายของโครงการ


๒) การให้ความสำคัญของผู้บังคับบัญชาทุกระดับ


๓) การมีส่วนร่วมด้วยความเต็มใจของบุคลากร


๔) ออกแบบกิจกรรมให้แทรกอยู่กับงานประจำ


๕) ชื่นชมยินดีผลงานของทุกคน


๖) มีการติดตามสนับสนุนและเติมเต็มองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรอย่างต่อเนื่อง


๗) สร้างผลงานให้บุคลากรเห็นเป็นรูปธรรม


๘) ใช้เวทีการประชุมประจำเดือนเป็นเวทีการเรียนรู้


๙) มีการมอบรางวัลจูงใจ


๑๐) ต้องรายงานความก้าวหน้าและผลสัมฤทธิ์ให้ผู้บังคับบัญชาทราบอย่างต่อเนื่อง


๑๑) มีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ


๑๒) สร้างเครือข่ายเพื่อเป็นกลไกแลกเปลี่ยนเรียนรู้


๑๓) มีระบบ IT และบุคลากรที่ชำนาญด้าน IT และอินเทอร์เน็ต


วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนจังหวัด(บรรยาย นพส.31)

การเรียนรู้เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนจังหวัดเป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน โดยสถาบันการพัฒนาชุมชนกำหนดไว้ในหลักสูตร ของการฝึกอบรมนักบริหารงานพัฒนาชุมชนระดับสูง(นพส.)รุ่นที่31โดยมีเป้าหมายเพื่อให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ในการจัดทำยุทธศาสตร์ในระดับจังหวัด สามารถเป็นที่ปรึกษาให้เเก่ผู้ใตบังคับบัญชาในการจัดทำเเละขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ได้ ผมเองได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการบรรยายสร้างความรู้ ความเข้าใจเเก่นักศึกษารุ่นนี้ในหัวข้อ การจัดทำเเละขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ เมื่อ วันที่ 20 ธันวาคม 2553 ณ สถานตากอากาศบางปู อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ในงานนี้มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน พัฒนาการจังหวัดสมุทรปราการเป็นหัวหน้าทีมการต้อนรับเเละสร้างการเรียนรู้
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดต้องครอบคุม 3 ขั้นตอนใหญ่ได้เเก่ 1)การจัดทำเเละวางแผนยุทธศาสตร์ 2)การถ่ายทอดยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ 3)การติดตามประเมินผลแผนยุทธศาสตร์
1.การจัดทำเเละวางแผนยุทธศาสตร์
INPUT การจัดทำแผนยุทธศาสตร์สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดดำเนินการภายใต้การบูรณาการภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่(พัฒนากร/นักวิชาการ/พัฒนาการอำเภอ)ภาคีการพัฒนา(ตัวเเทนเกษตร/สาธารณสุข/ท้องถิ่นเเละหน่วยงานในระดับจังหวัดที่สมามรถให้ข้อมูลได้)ผู้นำชุมชน กลุ่มองค์กร/เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในเวทีนี้เรานำข้อมูลที่สำคัญในด้านต่างๆเข้ามาเป็นปัจจัยนำเข้า เช่น ข้อมูลด้านเศรษฐกิจชุมชนเเละเศรษฐกิจภาพรวมของจังหวัด ข้อมูลด้านสิ่งเเวดล้อมประเด็นสถานการณ์เเละการเปลี่ยนเเปลง ความเป็นอยู่เเละคุณภาพชีวิตของพี่น้องสมุทรปราการ(จปฐ./กชช.2ค) ข้อมูลจากเเผนยุทธศาสตร์จังหวัดสมุทรปราการ ข้อมูลจากยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน ข้อมูลจากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ข้อมูลผลการประเมินการปฏิบัติราชการ PMQAเเละผลการสะท้อนการปฏิบัติงานเเละความต้องการจากผู้รับบริการของสำนักงานฯ(ผู้นำ/กลุ่ม องค์กร/เครือข่าย/ภาคี)

PROCESS
ในการจัดทำเเละยกร่างยุทธศาสตร์ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมผ่านเวทีเชิงบูรณาการ โดยร่วมกันวิเคราะห์ สังเคราะห์ หาศักยภาพในด้านต่างๆของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด วิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนเเปลงในอนาคต วิเคราะห์แผนการเปลี่ยนเเปลงที่จะเกิดขึ้นของชุมชนซึ่งรองรับด้วยแผนชุมชนเชิงบูรณาการของจังหวัดอีกชั้นหนึ่ง โดยมีเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลที่INPUT ได้เเก่
SWOT ANALYSIS (
วิเคราะห์จุดเด่น/จุดด้อย/โอกาส/ภัยคุกคาม)

7S(
วิเคราะห์ศักยภาพภายในองค์กร/โครงสร้าง/ระบบ/ทักษะ/ค่านิยมร่วม/รูปแบบการทำงาน/ทีมงานเเละบุคลากร)

CORE COMPETENCES(
สมรรถนะหลักขององค์กร)

SI-SE
STRATEGIC AN.
PMQA
ในการใช้เครื่องมือในการกำหนดเเผนยุทธศาสตร์ดังที่กล่าวมา ต้องพิจารณาเครื่องมือเเต่ละชนิดที่มีคุณลักษณะข้อดีข้อด้อยเเตกต่างกัน ดังนั้นต้องใช้หลายเครื่องมือเพื่อสามารถออกแบบแผนยุทธศาสตร์ให้สามารถขับเคลื่อนงานให้บรรลุภารกิจของสำนักงานพัฒนาชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

OUTPUT
สำหรับผลผลิตที่จะเกิดขึ้นจากกระบวนการดังกล่าวคือเเผยยุทธศาสตร์สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด มีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

วิสัยทัศน์

พันธกิจ

เป้าประสงค์

แผนที่ยุทธศาสตร์

โครงการ/กิจกรรม

ตัวชี้วัด

ซึ่งผลผลิตนี้จะนำไปสู่การถ่ายทอดให้บุคลากรทั่วทั้งองค์กรได้เรียนรู้เเละนำสู่การปฏิบัติ

2)การถ่ายทอดยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ

ในการนำแผนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัตินั้น สำนักงานพัฒนาชุมชนใช้หลักเเละเเนวปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานตามคำรับรองการปฏิบัติราชการภายในหน่วยงาน หรือที่เรารู้จักกันเเละคุ้นชิน คือ IPA นั่นเอง โดยมีการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการร่วมกันระหว่าง สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด อำเภอ จนถึงบุคคล โดยกำหนดให้ทุกหน่วยจัดทำโครงการข้อเสนอริเริ่มเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของจังหวัดเเละอำเภอให้บรรลุเป้าหมาย มีการกำหนดตัวชี้วัดรายบุคคล รายทีม เพื่อเป็นเครื่องมือในการติดตาม ประเมินผลอีกด้วย สำหรับกระบวนการในการถ่ายทอดแผนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ มีกระบวนงาน ดังนี้
1)
การทบทวนแผนยุทธศาสตร์

2)
การประชุมชี้เเจงเเละสร้างความรู้ความเข้าใจให้บุคลากรทั่วทั้งองค์กร

3)
การมอบหมายผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนมีการสร้างข้อตกลงร่วมกันในการขับเคลื่อนงาน

4)
มีระบบการติดตามสนับสนุนการดำเนินงานเเละถอดบทเรียนการทำงาน

5)
การสร้างแรงจูงใจให้เเก่ทีมเเละบุคลากร(รางวัลเเห่งความสำเร็จ)

ในการดำเนินงานต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศฯในการรองรับระบบงานของแผนยทธศาสตร์ที่ดี พัฒนาขีดความสามารถบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เเละใช้รับบการจัดการความรู้มาเป็นเครื่องมือในการทำงานใช้ความรู้ในการเเก้ปัญหาหน้างาน

3)การติดตามประเมินผลแผนยุทธศาสตร์

เครื่องมือที่ใช้ในการติดตามประเมินผลการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ได้เเก่

•PA
•IPA
•ONLINE REALTIME
คณะติดตามฯ

• PMQA
จะเห็นได้ว่าการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต้องดำเนินการให้ครบกระบวนงานในการวางแผนเชิงกลยุทธ์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดจึงต้องดำเนินการด้วยความเข้าใจเเละสามารถมองกระบวนงานที่เป็นขั้นเป็นตอน มองเห็นผลผลิต และผลลัพธ์ที่ชัดเจน เตรียมความพร้อมบุคลากรให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน เตรียมพื้นที่ให้ชัดเจน ประสานแกนนำที่ต้องปฏิบัติงานด้วย สร้างความเข้าใจ ให้ความสำคัญกับข้อมูล จปฐ. กชช.2ค แผนชุมชน บูรณาการกับภาคีและท้องถิ่นเพื่อจับมือทำงานร่วมกัน หาทางออกร่วมกัน มีการทบทวนบทเรียนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป


วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

“พ่อเมืองปากน้ำ...ปักธงงานพัฒนาชุมชนเพื่อคนสมุทรปราการ”


การที่จะนำพาปากน้ำเราให้ก้าวไปสู่เมืองอุตสาหกรรมน่าอยู่ เราต้องผนึกกำลังกันทุกภาคส่วนโดยเฉพาะพัฒนากรผู้ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต้องร่วมกับฝ่ายปกครองและภาคประชาชน เพื่อสร้างสรรค์ความอยู่ดีกินดี บ้านเมืองสงบเรียบร้อยสวยงาม สู่สังคมน่าอยู่ต่อไปนี่คือแนวนโยบายของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายเชิดศักดิ์ ชูศรี ในโอกาสมาเป็นประธานการมอบนโยบายเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แก่บุคลากรสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓ ณ ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ



จากวิสัยทัศน์จังหวัดสมุทรปราการที่ว่า เมืองอุตสาหกรรมน่าอยู่นายเชิดศักดิ์ ชูศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เน้นย้ำและกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาว่า การจะเป็นเมืองอุตสาหกรรมน่าอยู่นั้น ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการหนุนเสริมและสร้างพลังให้เกิดขึ้นทั้งภาคชุมชนและภาคประชาสังคม ทำอย่างไรชุมชนและสังคมจะสงบสุข สะอาด เรียบร้อย ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สิ่งแวดล้อมน่ามอง กลไกที่จะเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนงานเชิงพื้นที่ของจังหวัดสมุทรปราการ คือ พัฒนากร ดังนั้นพัฒนากรต้องเกาะติดพื้นที่ พัฒนาการอำเภอต้องเป็นผู้สอนแนะงานที่ดี เป็นที่ปรึกษาให้พัฒนากรในการสานงานเชื่อมโยงกับผู้นำชุมชนทุกระดับ ขณะเดียวกันต้องประสานเคียงบ่าเคียงไหล่กับปลัดอำเภอเพื่อเป็นแขนเป็นขาให้นายอำเภอในการพัฒนาชุมชนพื้นที่ให้บรรลุเป้าหมาย
จากเป้าหมายและกลไกการทำงานข้างต้น ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ยังมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ หัวหน้ากลุ่มงาน/ฝ่าย พัฒนาการอำเภอและพัฒนากรได้ให้ความสำคัญกับปัญหาเด็กและเยาวชน เรื่องยาเสพติด พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในทุก ๆ ด้าน ปัญหาการใช้ความรุนแรงในการแข่งขันทางการเมือง การส่งเสริมความรักความสามัคคีในชุมชน การสร้างความตระหนักในสิทธิหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตยและที่สำคัญการใช้ข้อมูลในการปฏิบัติงาน ทั้งข้อมูลความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ.) และข้อมูลเพื่อการพัฒนาหมู่บ้าน (กชช.๒ค) ขอให้ทุกภาคส่วนได้ให้ความสำคัญและควรมีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของทุกหมู่บ้านตำบลโดยจัดลำดับปัญหาเร่งด่วน ๕ ลำดับแรก รวมทั้งศึกษาความต้องการในเชิงพื้นที่เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนา การค้นหาแกนนำชุมชนตัวจริงที่ชุมชนให้การยอมรับและเป็นกลไกหลักในการพัฒนาชุมชนหมู่บ้านในปัจจุบันเพื่อ กำหนดตัวบุคคลและทิศทางการทำงานร่วมกับชุมชนได้ตรงจุดและสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง


จากแนวนโยบายและสิ่งที่ท่านผู้ว่าฯ เน้นย้ำการทำงานในครั้งนี้ชัดเจนและจะเกิดเป็นผลเชิงรูปธรรมแน่นอน ซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบด้านการพัฒนาศักยภาพของผู้นำชุมชน กลุ่ม/องค์กรเครือข่าย ในการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างระบบการบริหารจัดการชุมชนที่ดี จะขับเคลื่อนอย่าง เต็มกำลัง ภายใต้การยึดพื้นที่เป็นตัวตั้งบูรณาการกับทุกภาคส่วนทั้งเกษตร สาธารณสุข ศึกษา รวมทั้งหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องและที่สำคัญเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อความสุขของชาวบ้านในพื้นที่ปากน้ำตลอดไป นางคำแข ธรรมนิยาย พัฒนาการจังหวัดสมุทรปราการ ให้ความเชื่อมั่นและพร้อมก้าวเดินไปเพื่อเป้าหมายในการพัฒนาชุมชนในปี ๒๕๕๔ บรรลุผลต่อไป

และนี่เป็นกรอบทิศทางและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายเชิดศักดิ์ ชูศรี ในการปักธงงานพัฒนาชุมชนให้หนุนเสริมเมืองปากน้ำเป็นเมืองอุตสาหกรรมน่าอยู่ ชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนอยู่ดีมีสุข สิ่งแวดล้อมสวยงาม สมกับสมญานามจังหวัดสมุทรปราการที่เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของประเทศนั่นเอง




-------------------------------------------------------------

เก็บตกจากเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการ

เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน ประจำปี ๒๕๕๔

ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ

๘ ธันวาคม ๒๕๕๓

ณ ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ




วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ถอดบทเรียน/จัดการความรู้หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นเเบบ กันอีกซักครั้ง.....ทำอย่างไรดีเนี่ย?

อาจจะต่อเนื่องจากบทความที่ผมเขียนไว้ก่อนหน้านี้ เรื่องการจัดการความรู้หรือการถอดบทเรียนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นเเบบ ที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนดให้ทุกจังหวัดดำเนินการ เพราะเท่าที่พอรู้มาบ้างว่า เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบก็หาคำตอบไม่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร? จะจัดการความรู้อะไร? ทำไปเพื่ออะไร? รูปร่างหน้าตาบทเรียนหรือองค์ความรู้ที่อยากได้เป็นเช่นใด? ประกอบด้วยอะไรบ้าง? ทุกปีที่ดำเนินการไปแล้ว OK หรือไม่? นำไปใช้ในการพัฒนางานได้จริงหรือเปล่าหรือนำไปต่อยอดอย่างไร? เจ้าหน้าที่จังหวัดที่รับผิดชอบมีความชัดเจนในแนวทางเเละวิธีการหรือไม่ อย่างไร? ใครจะช่วยได้บ้าง?เมื่อรับคำสั่งให้ดำเนินการเเล้วจะทำอย่างไรดี?....?..?...?...? นี่เป็นตัวอย่างคำถามที่ผมมั่นใจว่าต้องเป็นคำถาม HOT HITเเน่ๆ เมื่องานมา พวกเราไม่งอมืองอเท้าครับเเต่งองงมากกว่า...55555

ในกิจกรรมหลักที่ 3 ส่งเสริมเเละพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมย่อยที่ 4,5 กรมฯกำหนดให้มีกิจกรรมการจัดการความรู้วิธีการปฎิบัติการพัฒนาหมู่บ้าน(วิธีการปฏิบัติที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินการพัฒนาชุมชนในภาพรวม)เเละจัดทำเอกสารความรู้อย่างน้อย 1 ฉบับ ทั้งนี้ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นตัวเเทนครอบครัวพัฒนา 30 คน

ผมไม่มีโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจที่กรมฯจัดในส่วนกลางเเต่เหตุที่เข้ามาเขียนเรื่องนี้เพราะมีเพื่อนๆสมาชิก อยากชวนผมไปเป็นวิทยากรในการจัดการความรู้เเละถอดบทเรียนที่ว่านี้ในต่างจังหวัด ผมจึงต้องมานั่งถอดรหัสเอาเอง....ถ้าดูโจทย์นี้ วัตถุประสงค์กรมฯต้องการเห็น..วิธีการ..เทคนิค...กลเม็ด..เคล็ดลับ...บทเรียนที่ดีในการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นอย่างไร?เพื่อต่อยอด ขยายผลให้ชุมชนอื่นได้เรียนรู้(ว่าไปนั่น)....กลุ่มเป้าหมายหรือ KEY หรือเจ้าของความรู้..ถ้าดูจากโจทย์ คือ ผู้นำหรือตัวเเทนครอบครัวพัฒนาที่เชิญมา 30 คน ถ้าตีความเเบบความรู้เท่าหางอึ่งของผมก็คือ..เชิญชาวบ้านมาถอด..สกัด...ล้วง...เเคะ...เเกะ..เกา...เอาวิธีปฏิบัติที่เยี่ยมยุทธในการพัฒนาตนเอง..ครอบครัว..ชุมชน.ให้มีวิถีแห่งความพอเพียงเลี้ยงตนเองได้เเจ๋วเเหวว....ออกมาเป็นความรู้ที่เป็นบทเรียนให้ชุมชนอื่นหรือครอบครัวอื่นๆได้เรียนรู้เเละนำบทเรียนที่ดีนี้ไปประยุกต์ใช้ต่อไป...(แม่นบ่) ถ้าเป็นไปตามสิ่งที่ผมตีความ ในเเวดวงนักถอดบทเรียนเขาเรียกว่า การจัดการความรู้ชุมชนนี่เอง เพราะ องค์ความรู้ที่ได้เป็น เทคนิค เป็นประสบการณ์ เป็นบทเรียนของชาวบ้านที่เขา เรียนรู้เเบบ LEARNING BY DOING กันมา.....นักพัฒนาชุมชนที่ทำหน้าที่ผู้เอื้อกระบวนการในการถอดบทเรียนท่านต้องตีโจทย์ให้เเตกนะ...เเต่ในมุมความคิดของผม หากจะทำให้งานครั้งนี้ก่อประโยชน์อย่างแท้จริง พัฒนากร เจ้าหน้าที่จังหวัด ภาคีการพัฒนา ต้องถอดบทเรียนหรือจัดการความรู้ด้วย..(สำคัญที่สุด) ตัวนักพัฒนานี่เเหละต้องสกัดเทคนิค KNOW HOWออกมา อย่าลืมการจัดการความรู้เพื่อมองภาพรวมท่านต้องวิเคราะห์กระบวนงานทั้งหมดเเละหาผู้เกี่ยวข้องมาร่วมวงสนทนา หาบทเรียนร่วมกัน คงไม่ใช่ครอบครัวพัฒนาอย่างเดียว ท้องถิ่นละ...หน่วยงานอื่นๆละ...เขาทำอะไรบ้างในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง...เขาหนุนอะไร อย่างไรกับครอบครัวพัฒนา...เราไม่ได้ทำงานคนเดียวครับ....ถ้าตอบคำถามเหล่านี้ได้ท่านจะได้ชุดความรู้ในการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นเเบบอย่างเเท้จริง...คุณว่ามั๊ย......

ยังมีประเด็นพูดคุยกันอีกมากครับ....วันหน้าผมจะชวนท่านคุยอีก...วันที่ 22 นี้จะไปสร้างการเรียนรู้เรื่องการจัดการความรู้กับพัฒนากรและเจ้าหน้าที่ที่โคราช..คงได้เรียนรู้ร่วมกันในหลายๆมิติครับ.....



ถอดบทเรียนเเละการจัดการความรู้หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นเเบบ



ระยะนี้กรมการพัฒนาชุมชนมีเเนวทางเเละข้อสั่งการให้ทุกจังหวัดดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นเเบบ โดยมีกรอบการดำเนินการสนับสนุนให้ทุกจังหวัดดำเนินการ เเละท้ายสุดให้จัดการความรู้เเละถอดบทเรียนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง นี่คือประเด็นที่ผมจะชวนคุยวันนี้ ผมเองไม่ได้รับผิดชอบกิจกรรมนี้เพราะเป็น หัวหน้ากลุ่มสารสนเทศฯรับผิดชอบการสนับสนุนด้านอื่นๆเสียมากกว่า เเต่ที่ต้องชวนคุยเพราะมีพรรคพวกที่เคยอบรมพัฒนาการอำเภอด้วยกัน ตั้งเป็นโจทย์ให้ช่วยคิดหน่อยว่าจะจัดการความรู้ หรือจะถอดบทเรียนอย่างไรดี เอาละครับงานเข้าขึ้นมาทันที


จากประสบการณ์ที่พอมีอยู่บ้างเรื่องการจัดการความรู้ เเละเป็นความเข้าใจส่วนตัว ขอย้ำว่าเป็นความเข้าใจส่วนตัวเท่านั้น ใครจะนำไปขบคิดต่อก็ไม่เสียหายครับ เมื่อได้รับโจทย์มาว่าจะจัดการความรู้หรือจะถอดบทเรียนหมู่บ้านเศรษฐกิจอย่างไรดีนั้นก่อนอื่นผมว่าเราต้องศึกษาเเละตั้งคำถามเหล่านี้ครับ


1.การจัดการความรู้ คืออะไร?


2.การถอดบทเรียนคืออะไร?


3.ข้อ 1 เเละข้อ 2 ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร เพราะที่ผ่านมาบางปี กรมฯให้จัดการความรู้ บางกิจกรรมให้ถอดบทเรียน อ้าวเเล้วต่างกันมั้ย....?


4.หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงที่จะไปจัดการความรู้หรือไปถอดบทเรียน คืออะไร? ขอบเขตเเค่ไหน?ใครให้ข้อมูลได้บ้าง?


5.จะไปจัดการหรือถอดความรู้อะไรของเขา? ถอดความรู้ที่ว่าเพื่ออะไร?


6.จะไปถอดความรู้กับใคร? ใครเกี่ยวข้องที่จะสามารถให้ข้อมูลได้บ้าง? มีกี่คน ?


7.จะใช้เครื่องมืออะไรไปจัดการความรู้หรือถอดความรู้กับเขา?



8.จะวางแผนเตรียมการอย่างไรในการถอดบทเรียนที่ว่าน?


9. ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์อะไรบ้าง?


10.จะจดบันทึกประเด็น ข้อความ ภาพและเสียงอย่างไร?


11.ได้ข้อ 10 มาแล้วทำอย่างไรต่อ จะมีวิธีการเขียนรายงานอย่างไร?(รูปแบบ)


12. นำไปตอบโจทย์การศึกษาได้หรือไม่และติดตามประเมินผลงานอย่างไร


นี่คือคำถามตั้งต้นที่ชวนทุกท่านช่วยกันตอบก่อนที่จะลงไปปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ จากประสบการณ์(ของผมคนเดียว) ผมขอให้ความชัดเจนในแนวทางดังนี้ครับ การถอดบทเรียนเป็นเครื่องมือหนึ่งในเรื่องการจัดการความรู้ เพราะเป็นการแกะ แคะ เอาความรู้(เทคนิคการทำงาน/วิธีปฎิบัติงานที่ดี/กลเม็ดเคล็ดลับในการทำงาน)ของคนทำงานและประสบผลสำเร็จมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความรู้ที่ว่าก็คือความรู้ที่ตกผลึกฝังแน่นในตัวคน ที่นักวิชาการเรียกว่า ความรู้ฝังลึก หรือความรู้ซ่อนเร้น(TACIT KNOWLEDGE) ทำอย่างไรเราจะนำความรู้เหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้ คำว่าบทเรียนมีความหมายใกล้เคียงหรือแนบแน่นกับวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ บทเรียนที่เกิดขึ้นมีทั้งที่เป็นบทเรียนเชิงบวกที่เป็น HOW TO ให้คนที่จะทำงานแบบเดียวกันได้เรียนรู้แล้วนำไปสู่การประยุกต์ใช้ กับบทเรียนที่เป็นจุดต้องหลีกเลี่ยงมิให้เกิดขึ้นอีก จะเป็นข้อพึงระวังและข้อควรคำนึงนั่นเอง ในการจัดการความรู้หรือถอดบทเรียนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง มีหลักปฏิบัติดังนี้ครับ


1.ท่านต้องกำหนดให้ชัดก่อนว่าท่านอยากเรียนรู้หรือต้องการหาบทเรียนอะไร? ในหมู่บ้านฯ (นั่นคือการตั้งคำถามในการถอดบทเรียนและกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน)


2.สิ่งที่ท่านอยากรู้ตามข้อ 1 ใครมีบทเรียนดีๆเป็นแบบอย่างได้บ้าง? นั่นคือหาแหล่งข้อมูลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะเป็นเจ้าของความรู้ตัวจริงนั่นเอง


3.เมื่อกำหนดวัตถุประสงค์ชัด รู้ตัว KEY (คนรู้เรื่องนั้นจริงๆ=เจ้าของความรู้) แล้ว สิ่งที่ต้องคิดต่อคือ แล้วจะใช้เครื่องมืออะไรในการ สกัดความรู้ หรือถอดความรู้ที่ว่า ได้เหมาะสมกับแหล่งความรู้ที่กำหนด (หาวิธีการ)


4.ประสานการจัดเวทีถอดบทเรียน โดยนักจัดการความรู้ต้องตั้งประเด็นคำถามให้ชัดไว้แต่ต้น เช่น สถานการณ์อะไรที่ทำให้ต้องดำเนินกิจกรรม? กิจกรรมที่ดำเนินการมีเป้าหมายอย่างไร? มีการวางแผนเช่นไร? สิ่งที่เกิดขึ้นจริงแตกต่างจากเป้าหมายหรือสิ่งที่คาดหวังไว้หรือไม่อย่างไร ทำไมเป็นเช่นนั้น? มีปัญหา อุปสรรคหรือไม่แก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างไร? ครั้งต่อไปเราควรจะปรับปรุงอย่างไรที่จะทำให้งานดีขึ้นกว่าเดิม?


5.ในการจัดการความรู้หรือถอดบทเรียนมีลักษณะให้ต้องคำนึงอีกข้อหนึ่ง คือ จำนวนกลุ่มเป้าหมายที่เราจะถอดความรู้ โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 3 ลักษณะดังนี้


5.1 การจัดการความรู้หรือถอดบทเรียนเป็นรายบุคคล


5.2 การจัดการความรู้หรือถอดบทเรียนรายกลุ่มองค์กร/เครือข่าย/ชุมชน


5.3 การจัดการความรู้หรือถอดบทเรียนรายโครงการ/กิจกรรม(ย่อย)


6. การเขียนรายงานการจัดการความรู้หรือถอดบทเรียน มักไม่คำนึงถึงระเบียบวิธีเช่นเดียวกับงานวิจัย มักเริ่มจาก


6.1 ชื่อเรื่อง


6.2 ความเป็นมาและวัตถุประสงค์


6.3 กระบวนการ/ขั้นตอนในการดำเนินงาน


6.4 ผลการดำเนินงาน(สิ่งที่เกิดขึ้นจริง)ประกอบด้วย สถานการณ์/เงื่อนไขที่เกิดขึ้นและผลที่ตามมา


6.5 บทเรียนหรือวิธีปฏิบัติที่ดีที่เกิดขึ้นในการดำเนินการ


6.6 การวิเคราะห์หาปัจจัยแห่งความสำเร็จ


6.7 ข้อเสนอเพื่อการพัฒนางานในครั้งต่อๆไป


ที่เขียนมาทั้งหมดเป็นประสบการณ์ที่ไม่เน้นข้อมูลอ้างอิง แต่ผมเขียนเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เท่านั้น หลายๆท่านอาจทำได้ดีกว่านี้มากมาย เสมือนเป็นเวทีเรียนรู้กันนะครับ แต่ข้อควรคำนึงสำคัญในการนำไปสู่การถอดบทเรียน จังหวัดต้องสร้างความเข้าใจเรื่องการจัดการความรู้ให้ชัดเจนแต่ผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ก่อน จึงจะสมามารถขับเคลื่อนได้สะดวกโยธินครับ.....





วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กระบวนการเรียนรู้ที่เเม่ฮ่องสอน

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ โดยท่าน คำเเข ธรรมนิยาย พัฒนาการจังหวัด กำหนดให้ทีมพัฒนาชุมชนสมุทรปราการ จัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน จากปี 2553 ก้าวสู่ ปีงบประมาณ 2554 ผ่านการถอดบทเรียนความสำเร็จเเละประเด็นปรับปรุงเพื่อการพัฒนาทีมเข้มเเข็งรองรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ปี 2554 ณ จังหวัดตาก เเม่ฮ่องสอนเเละเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 9 - 13 พฤศจิกายน 2554


กิจกรรมสร้างการเรียนรู้ในเวทีดังกล่าวใช้หลากหลายรูปแบบ เช่น การจัดเวทีเเลกเปลี่ยนเรียนรู้ในลักษณะ ชุมชนนักปฎิบัติ(COPs)ในการจัดการความรู้ร่วมกัน การบรรยายโดยผู้มีประสบการณ์และผู้บริหาร และการศึกษาดูงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเเละหมู่บ้าน OVC ในมิติของการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้มอบหมายทีมคณะทำงานวิชาการจัดกระบวนการจัดการความรู้ ประเด็นที่พูดคุยเป็นการทบทวนเเละสรุปบทเรียนด้านจุดเด่นของเเต่ละทีมทั้งในระดับจังหวัดเเละอำเภอ สะท้อนข้อปรับปรุงในการพัฒนาทีมในการขับเคลื่อนในปี 54 ต่อไป เเละที่สำคัญ เปิดเวทีให้สะท้อนมุมที่ทุกทีมต้องปรับปรุงโดยเฉพาะทัศนคติเเละการปฎิบัติงานของสมาชิกในทีมทั้งกลุ่มงาน/ฝ่ายเเละอำเภอ ทุกอำเภอ ในเวทีเรียนรู้หัวหน้ากลุ่มงานเเละพัฒนาการอำเภอจักต้องนำเสนอโครงการริเริ่มสร้างสรรค์ของทีมพร้อมรับฟังการวิพากษ์จากเวทีอย่างทั่วถึง
กิจกรรมการเรียนรู้ด้วยการศึกษาดูงานเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สมุทรปราการทีมนำมาใช้สร้างประสบการณ์ โดยเฉพาะการเรียนรู้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนในมิติการนำอัตตลักณ์ชุมชนมาพัฒนาเเละสร้างมูลค่าเพิ่ม คือการเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชนนั่นเอง เเหล่งเรียนรู้ดูงานได้เเก่ ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษสาขาอำเภอแม่สะเรียง หมู่บ้านOTOP เพื่อการท่องเที่ยว บ้านปิง อำเภอปาย จังหวัดเเม่ฮ่องสอน

สำหรับสรุปผลการจัดการความรู้สำนักงานพัฒนาชุมชนสมุทรปราการ โดยกลุ่มงานสารสนเทศฯ อยู่ระหว่างสกัดความรู้เพื่อพัฒนางานเเละนำเสนอผลต่ออธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนต่อไป สำหรับงบประมาณดำเนินการครั้งนี้ ได้รับสนับสนุนจากกรมการพัฒนาชุมชนในโอกาศที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการชนะเลิศ IPA ปี 2553

วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553

KM จังหวัดกับสิ่งที่ผมค้นพบ(5)



ผมมีภาระงานมากตอนนี้เลยไม่ได้เขียนบทความนัก วันนี้พอมีเวลาจะขอเสนอความเห็นการทำ KM ระดับจังหวัดของหน่วยงานภายใต้การดูเเลของกรมการพัฒนาชุมชน เป็นตอนที่ 5 ปีนี้ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการคว้ารางวัล การพัฒนาองค์กร ดีเด่นของกรมการพัฒนาชุมชนมาเกือบทุกรายการ เช่น หน่วยงานพัฒนาชุมชนใสสะอาด จังหวัดที่มีความโดดเด่นด้านการจัดการความรู้ เเละล่าสุดคือ ชนะเลิศหน่วยงานดีเด่นตามคำรับรองการปฎิบัติราชการภายใน IPA ปี 2553 ของกรมการพัฒนาชุมชน คว้าเงินรางวัลพัฒนาองค์กร 200,000 บ่าท ทั้งหมดที่กล่าวมา พูดได้ว่าเราวางระบบการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนองค์กร นี่คือผลของความเชื่อของพี่น้องพัฒนาชุมชนที่นี่ ที่เชื่อว่า KM จะสร้างพลังให้เกิดขึ้นได้ในองค์กร


กว่าที่เราจะได้ผลที่เป็นเช่นนี้ เราวางระบบ KM ด้วยอาการใจเย็นเป็นที่สุด มีหลายปัจจัยที่ทำให้คนสมุทรปราการไม่ปฎิเสธ KM ปัจจัยเเห่งความสำเร็จ คือการวางระบบที่เนียนไปกับวิธีการทำงานของคนที่นี่ ดังนี้


1. ค่อยเป็น ค่อยไป

2. ยอมรับและให้เกียรติเพื่อนทุกคน

3. มีความเชื่อว่าทุกคนในองค์กรมีความรู้เเละมีศักยภาพ

4. ชื่นชม ยินดี

5. เปิดเวทีพูดคุยเรื่องKMทุกครั้งเมื่อมีโอกาส
6. หาสัญญลักษณ์ที่เป็นของหน่วยงานเรื่อง KM

รายละเอียดจะขยายความตอนต่อไป........


วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

KM การจัดการความรู้เชิงแนวคิดทฤษฎี













การจัดการความรู้(Knowledge Management)





1.ความเป็นมา(บทนำ)
กระแสการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ต้องเผชิญไม่ว่าจะเป็นบุคคล หรือองค์กร การเปลี่ยน แปลงที่เกิดขึ้นมันรวดเร็วและรุนแรง ก็ด้วยปัจจัยที่เกิดจากการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีสาร สนเทศ ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบกับการดำเนิน งานทั้งภายในและภายนอกองค์การ ส่งผลให้เวทีการแข่งขันที่เคยจำกัดอยู่ในวงแคบ ๆ ขยายขอบ เขตออกไปครอบคลุมทั่วโลก และตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ ปี 2545-2549 ได้กำหนดให้การบริหารงานภาครัฐเข้าสู่ ระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) อีกทั้งแนวคิดในการบริหารจัดการสมัยใหม่ ทั้งการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) การจัดการคุณภาพ (Quality Management) การจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) และ การจัดการความรู้ (Knowledge Management)
ทำให้องค์กรและหน่วยงานทั้งหลายต้องปรับท่าที เพื่อความอยู่รอด และมีภูมิคุ้มกันอย่างมั่นคง เพราะองค์กร เป็นสิ่งมีชีวิต (Organic) ไม่ใช่เครื่องจักร (Mechanic) โดยคนเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ ซึ่งคนก็ไม่ใช่ต้นทุน แต่เป็นทุนมนุษย์ (Human Capital) เพราะในตัวคนมี ทักษะและประสบการณ์ที่ก่อให้ เกิดความชำนาญซึ่งเป็น “ทุนความรู้” (Knowledge Capital) จำเป็นต้องสร้างค่านิยมขององค์การ (Corporate Value) และวัฒนธรรมองค์กร (Corporate Culture) ที่ดี ความรู้ภายใต้บริบทเฉพาะมักแฝงอยู่ในภาษา วัฒนธรรม หรือประเพณี นักวิพากษ์ ลัทธิจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม กล่าวว่าการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมเดี่ยว ทำให้ความรู้ท้องถิ่นบางอย่างถูกทำลายลง ทำอย่างไรให้ความรู้ในทางปฏิบัติ ซึ่งมักเป็นที่ทราบกันในตัวคนหรือกลุ่มคน ถูกปรับเปลี่ยนและจัดการอย่างเป็นระบบ (Knowledge Management) เพื่อรักษาองค์กรไว้ ซึ่งจะต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้ ให้ความรู้ทั้งหลายนั้นกลายเป็นความรู้ที่เกิดประ โยชน์สำหรับคนทั้งองค์กร เพื่อการก้าวเข้าสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) เพราะ “ความรู้” คือ “อำนาจ”

2.ความรู้และการจัดการความรู้
(1.) ความหมายของความรู้
ความรู้ คือ อะไร?
คำว่า ความรู้ (Knowledge) นั้น ในทัศนะของฮอสเปอร์ (อ้างถึงในมาโนช เวชพันธ์ 2532, 15-16) นับเป็นขั้นแรกของพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการจดจำ ซึ่งอาจจะโดยการนึกได้ มองเห็นได้ หรือ ได้ฟัง ความรู้นี้ เป็นหนึ่งในขั้นตอนของการเรียนรู้ โดยประกอบไปด้วยคำจำกัดความหรือความหมาย ข้อเท็จจริง ทฤษฎี กฎ โครงสร้าง วิธีการแก้ไขปัญหา และมาตรฐานเป็นต้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ความรู้เป็นเรื่องของการจำอะไรได้ ระลึกได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความคิดที่ซับซ้อนหรือใช้ความสามารถของสมองมากนัก ด้วยเหตุนี้ การจำได้จึงถือว่าเป็น กระบวนการที่สำคัญในทางจิตวิทยา และเป็นขั้นตอนที่นำไปสู่พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเข้าใจ การนำความรู้ไปใช้ในการวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การประเมินผล ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ได้ใช้ความคิดและความ สามารถทางสมองมากขึ้นเป็นลำดับ ส่วนความเข้าใจ (Comprehension) นั้น ฮอสเปอร์ ชี้ให้เห็นว่า เป็นขั้นตอนต่อมาจากความรู้ โดยเป็นขั้นตอนที่จะต้องใช้ความสามารถของสมองและทักษะในชั้นที่สูงขึ้น จนถึงระดับของการสื่อความหมาย ซึ่งอาจเป็นไปได้โดยการใช้ปากเปล่า ข้อเขียน ภาษา หรือการใช้สัญลักษณ์ โดยมักเกิดขึ้นหลังจากที่บุคคลได้รับข่าวสารต่าง ๆ แล้ว อาจจะโดยการฟัง การเห็น การได้ยิน หรือเขียน แล้วแสดงออกมาในรูปของการใช้ทักษะหรือการแปลความหมายต่าง ๆ เช่น การบรรยายข่าวสารที่ได้ยินมาโดยคำพูดของตนเอง หรือการแปลความหมายจากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่ง โดยคงความหมายเดิมเอาไว้ หรืออาจเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อสรุปหรือการคาดคะเนก็ได้


Davenport & Prusak ได้ให้นิยามความรู้ว่า "ความรู้คือส่วนผสมที่เลื่อนไหลของประสบการณ์ที่ได้รับการวางโครงร่าง, เป็นคุณค่าต่างๆ, ข้อมูลในเชิงบริบท, และความเข้าใจอย่างถ่องแท้ที่ชำนาญการ ซึ่งได้นำเสนอกรอบหรือโครงร่างอันหนึ่งขึ้นมา เพื่อการประเมินและการรวบรวมประสบการณ์และข้อมูลใหม่ ๆ มันให้กำเนิดและถูกประยุกต์ใช้ในใจของบรรดาผู้รู้ทั้งหลาย ในองค์กรต่าง ๆ บ่อยครั้ง มันได้รับการฝังตรึงไม่เพียงอยู่ในเอกสารต่าง ๆ หรือในคลังความรู้เท่านั้น แต่ยังอยู่ในงานประจำ, กระบวนการ, การปฏิบัติ และบรรทัดฐานขององค์กรด้วย"
ในหนังสือ “Working Knowledge: How Organization Manage What They Know” โดย ดาเวนพอร์ต ที เอ็ช และ แอล พรูสัก (Davenport, T. H., และ L. Prusak, Boston: Havard Business School Press) อ้างถึงใน องค์กรแห่งความรู้ จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ หน้า 17 ของ รศ.ดร.ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ ว่า ความรู้ คือ “กรอบของการผสานระหว่างประสบการณ์ ค่านิยม ความรอบรู้ในบริบท และความรู้แจ้งอย่างช่ำชอง ซึ่งจะเป็นกรอบสำหรับประเมินค่า และการนำประสบการณ์สารสนเทศใหม่ ๆ มาผสมรวมด้วยกัน”

วิจารณ์ พานิช (2547 : 4-5) ได้ให้ความหมายของความรู้ไว้หลายทัศนะ ดังนี้ ความรู้ คือ สิ่งที่เมื่อนำไปใช้ จะไม่หมดหรือสึกหรอแต่จะยิ่งงอกเงย หรืองอกงามขึ้น กล่าวคือ
1) ความรู้ คือ สารสนเทศที่นำไปสู่การปฏิบัติ
2) ความรู้เป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้
3) ความรู้เกิดขึ้น ณ จุดที่ต้องการใช้ความรู้นั้น
4) ความรู้เป็นสิ่งที่ขึ้นกับบริบท และกระตุ้นให้เกิดขึ้นโดยความต้องการ
เกษม วัฒนชัย (2544 : 39) กล่าวว่า ความรู้ หมายถึง การรวบรวมความคิดของมนุษย์จัดให้เป็นหมวดหมู่และประมวลสาระที่สอดคล้องกัน โดยนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ดังนั้นสิ่งที่เป็นสาระในระบบข้อมูลข่าวสาร คือความรู้ ความรู้ใหม่ต้องสร้างขึ้น บนฐานของความรู้เดิมที่มีอยู่ ความรู้ใหม่จึงเกิดจากฐานการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่
เซงเก้ (Senge. 1990:3) กล่าวว่า ความรู้ หมายถึง ความสามารถที่นำไปสู่การกระทำที่มีประสิทธิภาพ

สรุปได้ว่า ความรู้ หมายถึง กรอบของการประสมประสานระหว่างประสบการณ์ค่านิยม ความรอบรู้ในบริบท และความรู้แจ้งอย่างช่ำชอง เป็นการประสมประสานที่ให้กรอบสำหรับการประเมินค่า และการนำเอาประสบการณ์กับสารสนเทศใหม่ ๆ มาผสมรวมเข้าด้วยกัน ให้เกิดขึ้น โดยถูกนำไปประยุกต์ได้ โดยบุคคล อาศัยข้อมูล ทักษะ และประสบการณ์ที่มีอยู่เป็นส่วนสนับสนุนการตัดสินใจไปสู่องค์กร หรือจากองค์กรไปสู่องค์กร
(2.) องค์ประกอบของความรู้ ประกอบด้วย
1. เป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือ และสามารถเปลี่ยนแปลง
2. สามารถตัดสินได้
3. เป็นสิ่งที่ได้จากประสบการณ์
4. เป็นสิ่งที่มีคุณค่า คาดคะเนได้ และเชื่อถือได้
5. เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความคิด ความฉลาด
(3) ธรรมชาติและประเภทของความรู้
ความรู้มีอยู่ทั่วไปในส่วนที่ฝังอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) และอยู่ภายนอกตัวคน (Explicit Knowledge) ซึ่งได้มีการบันทึกเก็บไว้ในหน่วยบันทึกความรู้รูปแบบบาง ๆ เช่น คู่มือ ตำรา หรือแฝงอยู่ในองค์กร ตัวผลิตภัณฑ์ และกระบวนการทำงานและการเรียนรู้ ซึ่งความรู้เหล่านี้จะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อบุคคล สถาบัน และสังคม ในบรรดาปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการพัฒนานั้น ความรู้ทั้งในส่วนที่เป็นของปัจเจกบุคคลและของสถาบัน ถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง การมีการบริหารจัดการความรู้ที่ดีย่อมทำให้บุคคล สถาบัน และสังคม ได้รับประโยชน์จากความรู้อย่างเต็มที่ และในการที่จะบริหารจัดการความรู้ให้มีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้และเข้าใจในธรรมชาติของความรู้

เจ้าของความรู้ นายกู้เกียรติ ญาติเสมอ

ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการพิเศษ
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการแก้ปัญหาเกี่ยวกับ การทำงานที่ไม่มีประสบการณ์/ไม่มีทักษะความรู้พื้นฐานมาก่อนเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ ปี2549
สถานที่เกิดเหตุการณ์ กรมการพัฒนาชุมชน
เมื่อต้นปี พ.ศ. 2549 ผมย้ายการปฏิบัติราชการจากจังหวัดอุดรธานีมาปฏิบัติราชการที่กรมการพัฒนาชุมชน (กทม.)โดยได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักวิชาการพัฒนาชุมชน 7 ว สำนักส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน รับผิดชอบงานนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน คำรับรองการปฏิบัติราชการซึ่งบอกตรงๆว่างานที่กล่าวมาทั้งหมดผมไม่เคยทำหรือมีประสบการณ์มาก่อนเลยแม้แต่น้อยและงานสำคัญที่ผมถือว่าเป็นงานยากและไม่เคยสัมผัสตั้งแต่ทำงานมากว่า 15 ปี นั่นก็คือ งานวางระบบการจัดการความรู้ของกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งในปีดังกล่าว สำนักงาน กพร. กำหนดเป็นตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการประจำปี และกำหนดเป็นตัวชี้วัดบังคับ ในมิติที่ 4 การพัฒนาองค์กร โดยมีตัวชี้วัดย่อยอีก 3 ตัวพ่วงท้ายมาอีกด้วย ลำพังตัวชี้วัดเดียว ผมมือใหม่เอามากๆๆก็หืดขึ้นคอแล้ว และที่สำคัญปีนั้นเป็นปีแรกที่กรมการพัฒนาชุมชนดำเนินงานจัดการความรู้(KNOWLEDGE MANAGEMENT: KM) อย่างเป็นระบบ สถานการณ์ขณะนั้นบีบหัวใจผมเอาการอยู่ เนื่องจากได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานใหม่ของกรมฯ งานใหม่ของสำนักฯและที่น่าตกใจ คือเป็นงานใหม่เอี่ยมสำหรับผม ซึ่งไม่มีความรู้พื้นฐานมาก่อนแม้แต่น้อย หากมีข้อผิดพลาดหรือตัวชี้วัดระบบการจัดการความรู้ที่ว่านี้ไม่สำเร็จหรือไม่เป็นไปตามเป้าหมายของผู้บังคับบัญชา ที่ตั้งไว้ อะไรจะเกิดขึ้น เป็นโจทย์ที่ยากสุดๆ สำหรับผม ณ ขณะนั้น และนี่เป็นจุดตั้งต้นที่ผมตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะฟันฝ่าอุปสรรคและปัญหาเหล่านี้ให้ได้แม้จะใช้เวลาหรือความพยายามมากน้อยแค่ไหนก็ตามที เมื่อรับงานการวางระบบการจัดการความรู้มาอย่างเต็มตัวแล้ว ประเด็นแรกของผมในการศึกษางานที่ว่านี้ คือ สืบค้นแฟ้มงานที่คนอยู่ก่อนหน้าทำเอาไว้ ผมอ่านเอกสารในแฟ้มตั้งแต่โครงการ รายละเอียดงบประมาณ ขั้นตอนการดำเนินงาน และเป้าหมายทั้งเชิงผลผลิตและเชิงคุณภาพ ตัวชี้วัดกิจกรรม อ่านแม้กระทั้งบันทึกเสนอต่างๆที่แสดงความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนงาน สิ่งที่ผมได้เรียนรู้คือขั้นตอนการทำงานของโครงการที่ผู้ยกร่างโครงการทำใว้ก่อนผมย้ายมา แต่ก็ไม่แน่ใจนักว่าเมื่อทำตามขั้นตอนของโครงการแล้วระบบการจัดการความรู้ของกรมการพัฒนาชุมชนจะสำเร็จแต่อย่างน้อยก็เป็นแนวทางที่ผ่านการคิดและไตร่ตรองมาพอสมควรแล้ว การศึกษารายละเอียดโครงการจากแฟ้มที่คนเก่าทำไว้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะเห็นภาพรวมของโครงการทั้งหมด แต่หากผู้รับผิดชอบ ไม่เข้าใจงานอย่างลึกซึ้ง
ก็จะเป็นปัญหาไม่รู้จบเช่นเดียวกัน ผมตระหนักปัญหานี้ดีจึงแสวงหาตำหรับ ตำราเรื่องการจัดการความรู้มาอ่านและศึกษาอย่างจริงๆจังๆ ผมหมดเงินไปนับพันบาทในการไปหาซื้อหนังสือประเภท HOW TO ด้านKM มาอ่าน การทำอย่างนี้ทำให้ผมมีความรู้ด้านการจัดการความรู้ที่กว้างขวางขึ้นจากตำราดังกล่าวแต่ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกคือ มีทฤษฎีมากมายแล้วปฏิบัติอย่างไร KM จึงจะเกิดเป็นรูปธรรมในกรมการพัฒนาชุมชน ผมนำความรู้ในแฟ้มงานที่กล่าวมาข้างต้นเชื่อมโยงกับตำราที่ซื้อมาอ่าน (แม้บางเล่มจะเขียนคนละทิศละทางก็ตามที) ทำให้เริ่มเดินงานอย่างคนมีข้อมูลแล้ว เกิดความมั่นใจมากขึ้น ในห้วงเวลานั้นคำถามที่ผมพบบ่อยคือ KM ที่เป็นรูปธรรมเป็นอย่างไร และทำอย่างไรให้สำเร็จ คนในองค์กรเก่งขึ้น งานมีคุณภาพ(เป้าหมาย KM) จังหวะเดียวกันนั้นผู้บังคับบัญชาตัดสินใจจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อมาวางระบบการจัดการความรู้โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นกลยุทธ์การพัฒนางานอย่างหนึ่งในกรณีขาดผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง การเอ้าท์ซอส องค์ความรู้จากภายนอกสามารถแก้ปัญหาและเอื้อให้บุคลากรเกิดการเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆที่บริษัท ผู้เชี่ยวชาญมาพัฒนาต่อยอดให้ ผมยิ่งมั่นใจมากขึ้นเมื่อมีระบบพี่เลี้ยงมาเกื้อหนุน บริษัทที่ปรึกษาดำเนินการสร้างการเรียนรู้โดยทำเวริ์คช็อป ให้เราลองปฏิบัติทุกขั้นตอนผมเริ่มเข้าใจ KM มากขึ้นการได้ฝึกปฏิบัติก่อนแล้ววิทยากรพี่เลี้ยงจึงสรุปหลักการภายหลังเป็นวิธีการที่ทำให้เราเข้าใจกระบวนการและวิธีการมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตลอดการฝึกปฏิบัตินั้นไม่มีการนั่งฟังบรรยายเป็นเวลานานเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทำให้ได้ข้อสรุปว่า การเรียนรู้เรื่อง KM จะเกิดผลดีต้องทำไปเรียนรู้ไปเท่านั้น การจัดกิจกรรมของบริษัทที่ปรึกษาจากการสังเกต พบว่ามีตั้งแต่การ สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายด้วยเกมส์/กิจกรรม การวางตัวของวิทยากร และการใช้สื่อที่สามารถเชื่อมโยงให้เห็นในการปฏิบัติจริงได้ ที่สำคัญการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้ผมเรียนรู้และเข้าใจมากขึ้นว่าการจัดการความรู้ คืออะไร ความรู้ที่เราจะจัดการหมายถึงอะไร มีขั้นตอนอย่างไร และนี่เป็นการเรียนรู้เนื้องานที่รับผิดชอบได้ดียิ่งขึ้น หลังการฝึกอบรม กรมฯและบริษัทที่ปรึกษามอบภารกิจให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกลับไปจัดเก็บความรู้ โดยใช้ทักษะที่ฝึกปฏิบัติจากการอบรมดังกล่าว เป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ไปสู่การปฏิบัติจริง ในการรับผิดชอบงานจัดการความรู้นอกจากผมใช้การศึกษากระบวนงานจากแฟ้มเอกสาร สอบถามเรียนรู้กับผู้รับผิดชอบงานเดิม การศึกษาเพิ่มเติมหลักการต่างๆจากตำราหรือเอกสารแนวทาง การหาพี่เลี้ยงที่ชำนาญหรือเชี่ยวชาญและการต้องลงมือฝึกปฏิบัติจริง จึงเป็นเครื่องมือและวิธีการที่ทำให้ผมทำงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้อย่างเข้าใจมากขึ้น ในขณะเดียวกันการจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญมาเป็นที่ปรึกษาครั้งนี้ผมได้เรียนรู้ทุกขั้นตอนของการก้าวเดินของที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิดด้วยการสังเกต บันทึก ติดตามตลอดทุกกิจกรรม ผมบันทึก รวบรวม ไว้ทั้งหมด ตั้งแต่ กิจกรรม เครื่องมือ เทคนิคการนำเสนอ สื่อต่างๆ และเคล็ดลับการสร้างการเรียนรู้ รวมทั้งติดตามผู้เชี่ยวชาญไปฝึกปฎิบัติทุกขั้นตอนทุกครั้งที่ไปดำเนินการ การจดบันทึกเป็นเครื่องมือแกะรอยการทำงานของผู้เชี่ยวชาญได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมนำประสบการณ์ที่ได้จากกระบวนการพัฒนาตนเองตามที่เล่ามาทั้งหมด มาเป็นกรอบและกระบวนการในการดำเนินงาน KM ของกรมการพัฒนาชุมชน นับจากวันนั้นเป็นต้นมาและเมื่อถึงปลายปีงบประมาณ ผลการประเมินการจัดการความรู้ของกรมการพัฒนาชุมชน ผ่านการประเมิน ได้ 5 คะแนนเต็ม พร้อมมีหลักฐานเชิงประจักษ์ครบถ้วน เกิดกระแสการพูดคุยเรื่อง KM กันมากขึ้น ผมรู้สึกดีใจที่การลงทุนทั้งเวลา งบประมาณ ที่สนับสนุนให้กรมฯมีระบบการจัดการความรู้เกิดผลสำเร็จในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นปีแรกที่กรมการพัฒนาชุมชนวางระบบ KM อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากผลงานผ่านการประเมินของ สำนักงาน กพร. แล้ว ผมภูมิใจที่การพัฒนาตนเองของผมให้เรียนรู้งานใหม่ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนเกิดความรู้และทักษะด้านการจัดการความรู้มากกว่าเดิม เข้าใจ และสามารถปฏิบัติได้ และที่สำคัญสามารถถ่ายทอดทั้งกระบวนการ เทคนิควิธี ของการจัดการความรู้ ได้เป็นอย่างดี จนปัจจุบัน ผมมีโอกาสได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร KM ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนและชุมชน รวมทั้งมหาวิทยาลัย ที่ผมก้าวเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย จากความสำเร็จนี้ทำให้ผมทีทัศนคติที่ดีกับงานใหม่ๆที่ไม่เคยทำและท้าทาย เสมือนเครื่องมือที่ทำให้ผมต้องกล้าที่จะเรียนรู้และพัฒนาทั้งทักษะความรู้จนเกิดเป็นความชำนาญและสามารถแก้ปัญหาในงานได้ในที่สุด
ขุมความรู้1. สืบค้นรายละเอียดงานจากแฟ้มงาน(ความเป็นมา/เรื่องเดิม/แนวทาง)และศึกษาให้ชัดเจน2. สืบค้นข้อมูล/พูดคุยกับผู้ที่รับผิดชอบเดิม(ที่มีประสบการณ์มาก่อน)3. จดบันทึกกระบวนการ/ขั้นตอน/วิธีการจากผู้รู้หรือผู้รับผิดชอบเดิม4. ศึกษาเอกสารตำราเพิ่มเติมเพื่อความลึกซึ้งและมองภาพรวมจากความรู้ที่เป็นสากล5. ฝึกปฏิบัติ ทำไปเรียนรู้ไปแก้ปัญหาไป บันทึกข้อผิดพลาด/วิธีการแก้ปัญหาได้สำเร็จ6. เชื่อมโยงหลักการตามตำรากับสถานการณ์และผู้เชี่ยวชาญ7. สร้างและใช้ระบบพี่เลี้ยงหรือเอ้าท์ซอส ความรู้จากภายนอกแก่นความรู้1. ไฝ่เรียนรู้(ด้วยตนเอง)2. ฝึกปฏิบัติ(ทักษะ)จริงจัง3. ตำราวิชาการหนุนเสริมความเข้าใจ4. สร้างระบบพี่เลี้ยงหรือมีทีมที่ปรึกษากลยุทธ์“ใฝ่รู้ ลองทำ นำหลักการ ประสานคนเก่ง เร่งสร้างระบบพี่เลี้ยง “

แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องแนวคิดด้านการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง การสร้างความรู้ และการพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ