km

km
พัฒนาชุมชนสมุทรปราการ ดำเนินงาน KM

วันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของการจัดการความรู้ระดับจังหวัด



ในการขับเคลื่อนโครงการปัจจัยแห่งความสำเร็จได้แก่


๑) ความรู้ความเข้าใจและความชัดเจน ของผู้รับผิดชอบโครงการฯ องค์ความรู้ด้านKMและกระบวนงานพร้อมเป้าหมายของโครงการ


๒) การให้ความสำคัญของผู้บังคับบัญชาทุกระดับ


๓) การมีส่วนร่วมด้วยความเต็มใจของบุคลากร


๔) ออกแบบกิจกรรมให้แทรกอยู่กับงานประจำ


๕) ชื่นชมยินดีผลงานของทุกคน


๖) มีการติดตามสนับสนุนและเติมเต็มองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรอย่างต่อเนื่อง


๗) สร้างผลงานให้บุคลากรเห็นเป็นรูปธรรม


๘) ใช้เวทีการประชุมประจำเดือนเป็นเวทีการเรียนรู้


๙) มีการมอบรางวัลจูงใจ


๑๐) ต้องรายงานความก้าวหน้าและผลสัมฤทธิ์ให้ผู้บังคับบัญชาทราบอย่างต่อเนื่อง


๑๑) มีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ


๑๒) สร้างเครือข่ายเพื่อเป็นกลไกแลกเปลี่ยนเรียนรู้


๑๓) มีระบบ IT และบุคลากรที่ชำนาญด้าน IT และอินเทอร์เน็ต


วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนจังหวัด(บรรยาย นพส.31)

การเรียนรู้เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนจังหวัดเป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน โดยสถาบันการพัฒนาชุมชนกำหนดไว้ในหลักสูตร ของการฝึกอบรมนักบริหารงานพัฒนาชุมชนระดับสูง(นพส.)รุ่นที่31โดยมีเป้าหมายเพื่อให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ในการจัดทำยุทธศาสตร์ในระดับจังหวัด สามารถเป็นที่ปรึกษาให้เเก่ผู้ใตบังคับบัญชาในการจัดทำเเละขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ได้ ผมเองได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการบรรยายสร้างความรู้ ความเข้าใจเเก่นักศึกษารุ่นนี้ในหัวข้อ การจัดทำเเละขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ เมื่อ วันที่ 20 ธันวาคม 2553 ณ สถานตากอากาศบางปู อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ในงานนี้มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน พัฒนาการจังหวัดสมุทรปราการเป็นหัวหน้าทีมการต้อนรับเเละสร้างการเรียนรู้
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดต้องครอบคุม 3 ขั้นตอนใหญ่ได้เเก่ 1)การจัดทำเเละวางแผนยุทธศาสตร์ 2)การถ่ายทอดยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ 3)การติดตามประเมินผลแผนยุทธศาสตร์
1.การจัดทำเเละวางแผนยุทธศาสตร์
INPUT การจัดทำแผนยุทธศาสตร์สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดดำเนินการภายใต้การบูรณาการภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่(พัฒนากร/นักวิชาการ/พัฒนาการอำเภอ)ภาคีการพัฒนา(ตัวเเทนเกษตร/สาธารณสุข/ท้องถิ่นเเละหน่วยงานในระดับจังหวัดที่สมามรถให้ข้อมูลได้)ผู้นำชุมชน กลุ่มองค์กร/เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในเวทีนี้เรานำข้อมูลที่สำคัญในด้านต่างๆเข้ามาเป็นปัจจัยนำเข้า เช่น ข้อมูลด้านเศรษฐกิจชุมชนเเละเศรษฐกิจภาพรวมของจังหวัด ข้อมูลด้านสิ่งเเวดล้อมประเด็นสถานการณ์เเละการเปลี่ยนเเปลง ความเป็นอยู่เเละคุณภาพชีวิตของพี่น้องสมุทรปราการ(จปฐ./กชช.2ค) ข้อมูลจากเเผนยุทธศาสตร์จังหวัดสมุทรปราการ ข้อมูลจากยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน ข้อมูลจากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ข้อมูลผลการประเมินการปฏิบัติราชการ PMQAเเละผลการสะท้อนการปฏิบัติงานเเละความต้องการจากผู้รับบริการของสำนักงานฯ(ผู้นำ/กลุ่ม องค์กร/เครือข่าย/ภาคี)

PROCESS
ในการจัดทำเเละยกร่างยุทธศาสตร์ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมผ่านเวทีเชิงบูรณาการ โดยร่วมกันวิเคราะห์ สังเคราะห์ หาศักยภาพในด้านต่างๆของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด วิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนเเปลงในอนาคต วิเคราะห์แผนการเปลี่ยนเเปลงที่จะเกิดขึ้นของชุมชนซึ่งรองรับด้วยแผนชุมชนเชิงบูรณาการของจังหวัดอีกชั้นหนึ่ง โดยมีเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลที่INPUT ได้เเก่
SWOT ANALYSIS (
วิเคราะห์จุดเด่น/จุดด้อย/โอกาส/ภัยคุกคาม)

7S(
วิเคราะห์ศักยภาพภายในองค์กร/โครงสร้าง/ระบบ/ทักษะ/ค่านิยมร่วม/รูปแบบการทำงาน/ทีมงานเเละบุคลากร)

CORE COMPETENCES(
สมรรถนะหลักขององค์กร)

SI-SE
STRATEGIC AN.
PMQA
ในการใช้เครื่องมือในการกำหนดเเผนยุทธศาสตร์ดังที่กล่าวมา ต้องพิจารณาเครื่องมือเเต่ละชนิดที่มีคุณลักษณะข้อดีข้อด้อยเเตกต่างกัน ดังนั้นต้องใช้หลายเครื่องมือเพื่อสามารถออกแบบแผนยุทธศาสตร์ให้สามารถขับเคลื่อนงานให้บรรลุภารกิจของสำนักงานพัฒนาชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

OUTPUT
สำหรับผลผลิตที่จะเกิดขึ้นจากกระบวนการดังกล่าวคือเเผยยุทธศาสตร์สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด มีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

วิสัยทัศน์

พันธกิจ

เป้าประสงค์

แผนที่ยุทธศาสตร์

โครงการ/กิจกรรม

ตัวชี้วัด

ซึ่งผลผลิตนี้จะนำไปสู่การถ่ายทอดให้บุคลากรทั่วทั้งองค์กรได้เรียนรู้เเละนำสู่การปฏิบัติ

2)การถ่ายทอดยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ

ในการนำแผนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัตินั้น สำนักงานพัฒนาชุมชนใช้หลักเเละเเนวปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานตามคำรับรองการปฏิบัติราชการภายในหน่วยงาน หรือที่เรารู้จักกันเเละคุ้นชิน คือ IPA นั่นเอง โดยมีการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการร่วมกันระหว่าง สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด อำเภอ จนถึงบุคคล โดยกำหนดให้ทุกหน่วยจัดทำโครงการข้อเสนอริเริ่มเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของจังหวัดเเละอำเภอให้บรรลุเป้าหมาย มีการกำหนดตัวชี้วัดรายบุคคล รายทีม เพื่อเป็นเครื่องมือในการติดตาม ประเมินผลอีกด้วย สำหรับกระบวนการในการถ่ายทอดแผนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ มีกระบวนงาน ดังนี้
1)
การทบทวนแผนยุทธศาสตร์

2)
การประชุมชี้เเจงเเละสร้างความรู้ความเข้าใจให้บุคลากรทั่วทั้งองค์กร

3)
การมอบหมายผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนมีการสร้างข้อตกลงร่วมกันในการขับเคลื่อนงาน

4)
มีระบบการติดตามสนับสนุนการดำเนินงานเเละถอดบทเรียนการทำงาน

5)
การสร้างแรงจูงใจให้เเก่ทีมเเละบุคลากร(รางวัลเเห่งความสำเร็จ)

ในการดำเนินงานต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศฯในการรองรับระบบงานของแผนยทธศาสตร์ที่ดี พัฒนาขีดความสามารถบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เเละใช้รับบการจัดการความรู้มาเป็นเครื่องมือในการทำงานใช้ความรู้ในการเเก้ปัญหาหน้างาน

3)การติดตามประเมินผลแผนยุทธศาสตร์

เครื่องมือที่ใช้ในการติดตามประเมินผลการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ได้เเก่

•PA
•IPA
•ONLINE REALTIME
คณะติดตามฯ

• PMQA
จะเห็นได้ว่าการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต้องดำเนินการให้ครบกระบวนงานในการวางแผนเชิงกลยุทธ์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดจึงต้องดำเนินการด้วยความเข้าใจเเละสามารถมองกระบวนงานที่เป็นขั้นเป็นตอน มองเห็นผลผลิต และผลลัพธ์ที่ชัดเจน เตรียมความพร้อมบุคลากรให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน เตรียมพื้นที่ให้ชัดเจน ประสานแกนนำที่ต้องปฏิบัติงานด้วย สร้างความเข้าใจ ให้ความสำคัญกับข้อมูล จปฐ. กชช.2ค แผนชุมชน บูรณาการกับภาคีและท้องถิ่นเพื่อจับมือทำงานร่วมกัน หาทางออกร่วมกัน มีการทบทวนบทเรียนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป


วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

“พ่อเมืองปากน้ำ...ปักธงงานพัฒนาชุมชนเพื่อคนสมุทรปราการ”


การที่จะนำพาปากน้ำเราให้ก้าวไปสู่เมืองอุตสาหกรรมน่าอยู่ เราต้องผนึกกำลังกันทุกภาคส่วนโดยเฉพาะพัฒนากรผู้ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต้องร่วมกับฝ่ายปกครองและภาคประชาชน เพื่อสร้างสรรค์ความอยู่ดีกินดี บ้านเมืองสงบเรียบร้อยสวยงาม สู่สังคมน่าอยู่ต่อไปนี่คือแนวนโยบายของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายเชิดศักดิ์ ชูศรี ในโอกาสมาเป็นประธานการมอบนโยบายเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แก่บุคลากรสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓ ณ ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ



จากวิสัยทัศน์จังหวัดสมุทรปราการที่ว่า เมืองอุตสาหกรรมน่าอยู่นายเชิดศักดิ์ ชูศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เน้นย้ำและกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาว่า การจะเป็นเมืองอุตสาหกรรมน่าอยู่นั้น ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการหนุนเสริมและสร้างพลังให้เกิดขึ้นทั้งภาคชุมชนและภาคประชาสังคม ทำอย่างไรชุมชนและสังคมจะสงบสุข สะอาด เรียบร้อย ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สิ่งแวดล้อมน่ามอง กลไกที่จะเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนงานเชิงพื้นที่ของจังหวัดสมุทรปราการ คือ พัฒนากร ดังนั้นพัฒนากรต้องเกาะติดพื้นที่ พัฒนาการอำเภอต้องเป็นผู้สอนแนะงานที่ดี เป็นที่ปรึกษาให้พัฒนากรในการสานงานเชื่อมโยงกับผู้นำชุมชนทุกระดับ ขณะเดียวกันต้องประสานเคียงบ่าเคียงไหล่กับปลัดอำเภอเพื่อเป็นแขนเป็นขาให้นายอำเภอในการพัฒนาชุมชนพื้นที่ให้บรรลุเป้าหมาย
จากเป้าหมายและกลไกการทำงานข้างต้น ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ยังมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ หัวหน้ากลุ่มงาน/ฝ่าย พัฒนาการอำเภอและพัฒนากรได้ให้ความสำคัญกับปัญหาเด็กและเยาวชน เรื่องยาเสพติด พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในทุก ๆ ด้าน ปัญหาการใช้ความรุนแรงในการแข่งขันทางการเมือง การส่งเสริมความรักความสามัคคีในชุมชน การสร้างความตระหนักในสิทธิหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตยและที่สำคัญการใช้ข้อมูลในการปฏิบัติงาน ทั้งข้อมูลความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ.) และข้อมูลเพื่อการพัฒนาหมู่บ้าน (กชช.๒ค) ขอให้ทุกภาคส่วนได้ให้ความสำคัญและควรมีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของทุกหมู่บ้านตำบลโดยจัดลำดับปัญหาเร่งด่วน ๕ ลำดับแรก รวมทั้งศึกษาความต้องการในเชิงพื้นที่เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนา การค้นหาแกนนำชุมชนตัวจริงที่ชุมชนให้การยอมรับและเป็นกลไกหลักในการพัฒนาชุมชนหมู่บ้านในปัจจุบันเพื่อ กำหนดตัวบุคคลและทิศทางการทำงานร่วมกับชุมชนได้ตรงจุดและสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง


จากแนวนโยบายและสิ่งที่ท่านผู้ว่าฯ เน้นย้ำการทำงานในครั้งนี้ชัดเจนและจะเกิดเป็นผลเชิงรูปธรรมแน่นอน ซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบด้านการพัฒนาศักยภาพของผู้นำชุมชน กลุ่ม/องค์กรเครือข่าย ในการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างระบบการบริหารจัดการชุมชนที่ดี จะขับเคลื่อนอย่าง เต็มกำลัง ภายใต้การยึดพื้นที่เป็นตัวตั้งบูรณาการกับทุกภาคส่วนทั้งเกษตร สาธารณสุข ศึกษา รวมทั้งหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องและที่สำคัญเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อความสุขของชาวบ้านในพื้นที่ปากน้ำตลอดไป นางคำแข ธรรมนิยาย พัฒนาการจังหวัดสมุทรปราการ ให้ความเชื่อมั่นและพร้อมก้าวเดินไปเพื่อเป้าหมายในการพัฒนาชุมชนในปี ๒๕๕๔ บรรลุผลต่อไป

และนี่เป็นกรอบทิศทางและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายเชิดศักดิ์ ชูศรี ในการปักธงงานพัฒนาชุมชนให้หนุนเสริมเมืองปากน้ำเป็นเมืองอุตสาหกรรมน่าอยู่ ชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนอยู่ดีมีสุข สิ่งแวดล้อมสวยงาม สมกับสมญานามจังหวัดสมุทรปราการที่เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของประเทศนั่นเอง




-------------------------------------------------------------

เก็บตกจากเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการ

เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน ประจำปี ๒๕๕๔

ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ

๘ ธันวาคม ๒๕๕๓

ณ ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ




วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ถอดบทเรียน/จัดการความรู้หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นเเบบ กันอีกซักครั้ง.....ทำอย่างไรดีเนี่ย?

อาจจะต่อเนื่องจากบทความที่ผมเขียนไว้ก่อนหน้านี้ เรื่องการจัดการความรู้หรือการถอดบทเรียนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นเเบบ ที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนดให้ทุกจังหวัดดำเนินการ เพราะเท่าที่พอรู้มาบ้างว่า เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบก็หาคำตอบไม่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร? จะจัดการความรู้อะไร? ทำไปเพื่ออะไร? รูปร่างหน้าตาบทเรียนหรือองค์ความรู้ที่อยากได้เป็นเช่นใด? ประกอบด้วยอะไรบ้าง? ทุกปีที่ดำเนินการไปแล้ว OK หรือไม่? นำไปใช้ในการพัฒนางานได้จริงหรือเปล่าหรือนำไปต่อยอดอย่างไร? เจ้าหน้าที่จังหวัดที่รับผิดชอบมีความชัดเจนในแนวทางเเละวิธีการหรือไม่ อย่างไร? ใครจะช่วยได้บ้าง?เมื่อรับคำสั่งให้ดำเนินการเเล้วจะทำอย่างไรดี?....?..?...?...? นี่เป็นตัวอย่างคำถามที่ผมมั่นใจว่าต้องเป็นคำถาม HOT HITเเน่ๆ เมื่องานมา พวกเราไม่งอมืองอเท้าครับเเต่งองงมากกว่า...55555

ในกิจกรรมหลักที่ 3 ส่งเสริมเเละพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมย่อยที่ 4,5 กรมฯกำหนดให้มีกิจกรรมการจัดการความรู้วิธีการปฎิบัติการพัฒนาหมู่บ้าน(วิธีการปฏิบัติที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินการพัฒนาชุมชนในภาพรวม)เเละจัดทำเอกสารความรู้อย่างน้อย 1 ฉบับ ทั้งนี้ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นตัวเเทนครอบครัวพัฒนา 30 คน

ผมไม่มีโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจที่กรมฯจัดในส่วนกลางเเต่เหตุที่เข้ามาเขียนเรื่องนี้เพราะมีเพื่อนๆสมาชิก อยากชวนผมไปเป็นวิทยากรในการจัดการความรู้เเละถอดบทเรียนที่ว่านี้ในต่างจังหวัด ผมจึงต้องมานั่งถอดรหัสเอาเอง....ถ้าดูโจทย์นี้ วัตถุประสงค์กรมฯต้องการเห็น..วิธีการ..เทคนิค...กลเม็ด..เคล็ดลับ...บทเรียนที่ดีในการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นอย่างไร?เพื่อต่อยอด ขยายผลให้ชุมชนอื่นได้เรียนรู้(ว่าไปนั่น)....กลุ่มเป้าหมายหรือ KEY หรือเจ้าของความรู้..ถ้าดูจากโจทย์ คือ ผู้นำหรือตัวเเทนครอบครัวพัฒนาที่เชิญมา 30 คน ถ้าตีความเเบบความรู้เท่าหางอึ่งของผมก็คือ..เชิญชาวบ้านมาถอด..สกัด...ล้วง...เเคะ...เเกะ..เกา...เอาวิธีปฏิบัติที่เยี่ยมยุทธในการพัฒนาตนเอง..ครอบครัว..ชุมชน.ให้มีวิถีแห่งความพอเพียงเลี้ยงตนเองได้เเจ๋วเเหวว....ออกมาเป็นความรู้ที่เป็นบทเรียนให้ชุมชนอื่นหรือครอบครัวอื่นๆได้เรียนรู้เเละนำบทเรียนที่ดีนี้ไปประยุกต์ใช้ต่อไป...(แม่นบ่) ถ้าเป็นไปตามสิ่งที่ผมตีความ ในเเวดวงนักถอดบทเรียนเขาเรียกว่า การจัดการความรู้ชุมชนนี่เอง เพราะ องค์ความรู้ที่ได้เป็น เทคนิค เป็นประสบการณ์ เป็นบทเรียนของชาวบ้านที่เขา เรียนรู้เเบบ LEARNING BY DOING กันมา.....นักพัฒนาชุมชนที่ทำหน้าที่ผู้เอื้อกระบวนการในการถอดบทเรียนท่านต้องตีโจทย์ให้เเตกนะ...เเต่ในมุมความคิดของผม หากจะทำให้งานครั้งนี้ก่อประโยชน์อย่างแท้จริง พัฒนากร เจ้าหน้าที่จังหวัด ภาคีการพัฒนา ต้องถอดบทเรียนหรือจัดการความรู้ด้วย..(สำคัญที่สุด) ตัวนักพัฒนานี่เเหละต้องสกัดเทคนิค KNOW HOWออกมา อย่าลืมการจัดการความรู้เพื่อมองภาพรวมท่านต้องวิเคราะห์กระบวนงานทั้งหมดเเละหาผู้เกี่ยวข้องมาร่วมวงสนทนา หาบทเรียนร่วมกัน คงไม่ใช่ครอบครัวพัฒนาอย่างเดียว ท้องถิ่นละ...หน่วยงานอื่นๆละ...เขาทำอะไรบ้างในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง...เขาหนุนอะไร อย่างไรกับครอบครัวพัฒนา...เราไม่ได้ทำงานคนเดียวครับ....ถ้าตอบคำถามเหล่านี้ได้ท่านจะได้ชุดความรู้ในการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นเเบบอย่างเเท้จริง...คุณว่ามั๊ย......

ยังมีประเด็นพูดคุยกันอีกมากครับ....วันหน้าผมจะชวนท่านคุยอีก...วันที่ 22 นี้จะไปสร้างการเรียนรู้เรื่องการจัดการความรู้กับพัฒนากรและเจ้าหน้าที่ที่โคราช..คงได้เรียนรู้ร่วมกันในหลายๆมิติครับ.....



ถอดบทเรียนเเละการจัดการความรู้หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นเเบบ



ระยะนี้กรมการพัฒนาชุมชนมีเเนวทางเเละข้อสั่งการให้ทุกจังหวัดดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นเเบบ โดยมีกรอบการดำเนินการสนับสนุนให้ทุกจังหวัดดำเนินการ เเละท้ายสุดให้จัดการความรู้เเละถอดบทเรียนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง นี่คือประเด็นที่ผมจะชวนคุยวันนี้ ผมเองไม่ได้รับผิดชอบกิจกรรมนี้เพราะเป็น หัวหน้ากลุ่มสารสนเทศฯรับผิดชอบการสนับสนุนด้านอื่นๆเสียมากกว่า เเต่ที่ต้องชวนคุยเพราะมีพรรคพวกที่เคยอบรมพัฒนาการอำเภอด้วยกัน ตั้งเป็นโจทย์ให้ช่วยคิดหน่อยว่าจะจัดการความรู้ หรือจะถอดบทเรียนอย่างไรดี เอาละครับงานเข้าขึ้นมาทันที


จากประสบการณ์ที่พอมีอยู่บ้างเรื่องการจัดการความรู้ เเละเป็นความเข้าใจส่วนตัว ขอย้ำว่าเป็นความเข้าใจส่วนตัวเท่านั้น ใครจะนำไปขบคิดต่อก็ไม่เสียหายครับ เมื่อได้รับโจทย์มาว่าจะจัดการความรู้หรือจะถอดบทเรียนหมู่บ้านเศรษฐกิจอย่างไรดีนั้นก่อนอื่นผมว่าเราต้องศึกษาเเละตั้งคำถามเหล่านี้ครับ


1.การจัดการความรู้ คืออะไร?


2.การถอดบทเรียนคืออะไร?


3.ข้อ 1 เเละข้อ 2 ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร เพราะที่ผ่านมาบางปี กรมฯให้จัดการความรู้ บางกิจกรรมให้ถอดบทเรียน อ้าวเเล้วต่างกันมั้ย....?


4.หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงที่จะไปจัดการความรู้หรือไปถอดบทเรียน คืออะไร? ขอบเขตเเค่ไหน?ใครให้ข้อมูลได้บ้าง?


5.จะไปจัดการหรือถอดความรู้อะไรของเขา? ถอดความรู้ที่ว่าเพื่ออะไร?


6.จะไปถอดความรู้กับใคร? ใครเกี่ยวข้องที่จะสามารถให้ข้อมูลได้บ้าง? มีกี่คน ?


7.จะใช้เครื่องมืออะไรไปจัดการความรู้หรือถอดความรู้กับเขา?



8.จะวางแผนเตรียมการอย่างไรในการถอดบทเรียนที่ว่าน?


9. ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์อะไรบ้าง?


10.จะจดบันทึกประเด็น ข้อความ ภาพและเสียงอย่างไร?


11.ได้ข้อ 10 มาแล้วทำอย่างไรต่อ จะมีวิธีการเขียนรายงานอย่างไร?(รูปแบบ)


12. นำไปตอบโจทย์การศึกษาได้หรือไม่และติดตามประเมินผลงานอย่างไร


นี่คือคำถามตั้งต้นที่ชวนทุกท่านช่วยกันตอบก่อนที่จะลงไปปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ จากประสบการณ์(ของผมคนเดียว) ผมขอให้ความชัดเจนในแนวทางดังนี้ครับ การถอดบทเรียนเป็นเครื่องมือหนึ่งในเรื่องการจัดการความรู้ เพราะเป็นการแกะ แคะ เอาความรู้(เทคนิคการทำงาน/วิธีปฎิบัติงานที่ดี/กลเม็ดเคล็ดลับในการทำงาน)ของคนทำงานและประสบผลสำเร็จมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความรู้ที่ว่าก็คือความรู้ที่ตกผลึกฝังแน่นในตัวคน ที่นักวิชาการเรียกว่า ความรู้ฝังลึก หรือความรู้ซ่อนเร้น(TACIT KNOWLEDGE) ทำอย่างไรเราจะนำความรู้เหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้ คำว่าบทเรียนมีความหมายใกล้เคียงหรือแนบแน่นกับวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ บทเรียนที่เกิดขึ้นมีทั้งที่เป็นบทเรียนเชิงบวกที่เป็น HOW TO ให้คนที่จะทำงานแบบเดียวกันได้เรียนรู้แล้วนำไปสู่การประยุกต์ใช้ กับบทเรียนที่เป็นจุดต้องหลีกเลี่ยงมิให้เกิดขึ้นอีก จะเป็นข้อพึงระวังและข้อควรคำนึงนั่นเอง ในการจัดการความรู้หรือถอดบทเรียนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง มีหลักปฏิบัติดังนี้ครับ


1.ท่านต้องกำหนดให้ชัดก่อนว่าท่านอยากเรียนรู้หรือต้องการหาบทเรียนอะไร? ในหมู่บ้านฯ (นั่นคือการตั้งคำถามในการถอดบทเรียนและกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน)


2.สิ่งที่ท่านอยากรู้ตามข้อ 1 ใครมีบทเรียนดีๆเป็นแบบอย่างได้บ้าง? นั่นคือหาแหล่งข้อมูลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะเป็นเจ้าของความรู้ตัวจริงนั่นเอง


3.เมื่อกำหนดวัตถุประสงค์ชัด รู้ตัว KEY (คนรู้เรื่องนั้นจริงๆ=เจ้าของความรู้) แล้ว สิ่งที่ต้องคิดต่อคือ แล้วจะใช้เครื่องมืออะไรในการ สกัดความรู้ หรือถอดความรู้ที่ว่า ได้เหมาะสมกับแหล่งความรู้ที่กำหนด (หาวิธีการ)


4.ประสานการจัดเวทีถอดบทเรียน โดยนักจัดการความรู้ต้องตั้งประเด็นคำถามให้ชัดไว้แต่ต้น เช่น สถานการณ์อะไรที่ทำให้ต้องดำเนินกิจกรรม? กิจกรรมที่ดำเนินการมีเป้าหมายอย่างไร? มีการวางแผนเช่นไร? สิ่งที่เกิดขึ้นจริงแตกต่างจากเป้าหมายหรือสิ่งที่คาดหวังไว้หรือไม่อย่างไร ทำไมเป็นเช่นนั้น? มีปัญหา อุปสรรคหรือไม่แก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างไร? ครั้งต่อไปเราควรจะปรับปรุงอย่างไรที่จะทำให้งานดีขึ้นกว่าเดิม?


5.ในการจัดการความรู้หรือถอดบทเรียนมีลักษณะให้ต้องคำนึงอีกข้อหนึ่ง คือ จำนวนกลุ่มเป้าหมายที่เราจะถอดความรู้ โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 3 ลักษณะดังนี้


5.1 การจัดการความรู้หรือถอดบทเรียนเป็นรายบุคคล


5.2 การจัดการความรู้หรือถอดบทเรียนรายกลุ่มองค์กร/เครือข่าย/ชุมชน


5.3 การจัดการความรู้หรือถอดบทเรียนรายโครงการ/กิจกรรม(ย่อย)


6. การเขียนรายงานการจัดการความรู้หรือถอดบทเรียน มักไม่คำนึงถึงระเบียบวิธีเช่นเดียวกับงานวิจัย มักเริ่มจาก


6.1 ชื่อเรื่อง


6.2 ความเป็นมาและวัตถุประสงค์


6.3 กระบวนการ/ขั้นตอนในการดำเนินงาน


6.4 ผลการดำเนินงาน(สิ่งที่เกิดขึ้นจริง)ประกอบด้วย สถานการณ์/เงื่อนไขที่เกิดขึ้นและผลที่ตามมา


6.5 บทเรียนหรือวิธีปฏิบัติที่ดีที่เกิดขึ้นในการดำเนินการ


6.6 การวิเคราะห์หาปัจจัยแห่งความสำเร็จ


6.7 ข้อเสนอเพื่อการพัฒนางานในครั้งต่อๆไป


ที่เขียนมาทั้งหมดเป็นประสบการณ์ที่ไม่เน้นข้อมูลอ้างอิง แต่ผมเขียนเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เท่านั้น หลายๆท่านอาจทำได้ดีกว่านี้มากมาย เสมือนเป็นเวทีเรียนรู้กันนะครับ แต่ข้อควรคำนึงสำคัญในการนำไปสู่การถอดบทเรียน จังหวัดต้องสร้างความเข้าใจเรื่องการจัดการความรู้ให้ชัดเจนแต่ผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ก่อน จึงจะสมามารถขับเคลื่อนได้สะดวกโยธินครับ.....