km

km
พัฒนาชุมชนสมุทรปราการ ดำเนินงาน KM

วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ชื่อความรู้เรื่อง กลุ่มวิสาหกิจโฮมสเตย์บางน้ำผึ้ง


เจ้าของความรู้ นางมะลิ พูนสวัสดิ์

ตำแหน่ง ประธานกลุ่มวิสาหกิจโฮมสเตย์บางน้ำผึ้ง

ที่อยู่ เลขที่ 5 หมู่ 3 บ้านบางน้ำผึ้ง ตำบลบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

เบอร์โทรศัพท์ -

เนื้อเรื่อง บางน้ำผึ้งเป็นพื้นที่ราบลุ่มติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็น 1 ตำบลในกระเพาะหมูของ
อำเภอพระประแดง หลังจากที่มีตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง ในปี 2547 นายกองค์การบริหาร
ส่วนตำบลบางน้ำผึ้งและผู้นำชุมชนและชาวบ้านที่อยู่ในหมู่ 3 และหมู่บ้านใกล้เคียง
รวมกลุ่มปรึกษาหารือในเรื่องการจัดตั้งกลุ่มโฮมสเตย์ เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยว
ตลาดน้ำต้องการพักผ่อนค้างคืนและชมธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่ดีของบางน้ำผึ้ง จึงเกิดแนวคิดการรวมกลุ่มทำบางน้ำผึ้งโฮมสเตย์ จึงมีการตกลงในที่ประชุมว่า ลักษณะโฮมสเตย์จะต้องนำบ้านพักที่เป็นทุนเดิมของชาวบ้านเองเป็นบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว เน้นการบริการแบบญาติที่มาเยือนที่พักสะอาดและมีความปลอดภัยสูงในราคาที่ถูก หลักจากนั้นรวมกลุ่มชาวบ้านที่มีความประสงค์และสมัครใจที่จะทำเป็นกลุ่มโฮมสเตย์ สร้างกลุ่มและการจัดการในแนวคิดตามเศรษฐกิจพอเพียง
บางน้ำผึ้งโฮมสเตย์ ได้รับมาตรฐานารท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยปี 2549-2554 โดยผ่านมาตรฐาน 8 มาตรฐาน 32 ตัวชี้วัด คือ
- มาตรฐานด้านที่พัก
- ด้านความปลอดภัย
- ด้านอาหาร
- ด้านอัธยาศัยไมตรีของเจ้าของบ้าน
- ด้านสิ่งแวดล้อม
- ด้านนำเที่ยว
- ด้านวัฒนธรรม
- ด้านประชาสัมพันธ์
ด้านการบริหารจัดการในการดำเนินการขยายกลุ่มวิสาหกิจโฮมสเตย์บางน้ำผึ้ง
- การบริหารจัดการเป็นกลุ่ม มีคณะกรรมการ มีที่ปรึกษา และมีสมาชิกลุ่ม
- มีการประสานงานและช่วยเหลือกันในกลุ่ม แบ่งออกเป็น
o กลุ่มประสานงานนักท่องเที่ยว
o กลุ่มบ้านพัก
o กลุ่มประชาสัมพันธ์
o กลุ่มไกด์นำเที่ยว
o กลุ่มอาหาร
o กลุ่มต้อนรับ
ภายในกลุ่มมีการประชุมปรึกษากลุ่มในวันที่ 1 ของทุกเดือน
รายได้ของกลุ่มโฮมสเตย์
เป็นการกระจายรายได้ให้กับชาวบ้านตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอย่างทั่วถึง
เช่นกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในหมู่บ้าน
แนวทางการพัฒนาในอนาคต
- ผลักดันบ้านสมาชิกในเครือข่ายที่ยังไม่ได้รับการประเมินให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- สร้างเครือข่ายในชุมชนแบบครบวงจรในตำบลบางน้ำผึ้งเพื่อเป็นการกระจายรายได้
- พัฒนาสมาชิกในกลุ่ม ด้านการบริการ ส่งเสริมการเรียนรู้โดยส่งไปศึกษาเรียนรู้งานยังโฮมสเตย์อื่น
- พัฒนาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
การต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะเพื่อศึกษาดูงาน ตลาดน้ำ และโฮมสเตย์ , เป็นครอบครัว นิสิต นักศึกษา นักเรียนและบุคคลทั่วไป

----------------------------------------














ความรู้เรื่อง เทคนิคการขจัดความประหม่าเมื่อต้องเป็นพิธีกร


เจ้าของความรู้ นายสรสาสน์ สีเพ็ง นักวิชาการฯ ชำนาญการ สพจ.สมุทรปราการ
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่พิธีกร หรือขึ้นกล่าวในโอกาสต่างๆ

การพูด นับเป็นการสื่อสารขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ใช้ทำความเข้าใจกัน คนโดยทั่วไป (ที่ไม่เป็นใบ้) จึงพูดคุยสนทนากันเป็นปกติวิสัยทุกวี่วัน ไม่มีเหตุอะไรที่จะต้องวิตกกังวล หรือตื่นเต้นเมื่อต้องพูดจาปราศรัยกัน
แต่การพูด ก็ทำให้ “งานกร่อย” หรือ “ตกม้าตาย” หรือกระทั่ง “วงแตก” เกิดขึ้นได้ในหลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดต่อหน้าที่ชุมนุมชน หรือเมื่อขึ้นหน้าเวที
สาเหตุก็มาจากความประหม่า คือ การหวาดกลัว หรือไม่ก็เพราะความตื่นเต้น คือ จังหวะเต้นของหัวใจเร็วและรัวจนไม่อาจควบคุมได้ ซึ่งจะนำไปสู่ความสับสน คอแห้ง ปากสั่น มือสั่น กระทั่งขาก็สั่น บางคนบางครั้งสั่นไปทั้งตัว ลืมบทที่เตรียมและซ้อมไว้หมดสิ้น บางทีมีโพยขึ้นไปด้วยก็อุ่นใจ สามารถควบคุมปาก มือ และเท้าไม่ให้สั่น ผู้ฟังก็ไม่มีใครจับได้ แต่เจ้ากระดาษโพยในมือกลับไหวระรัวแทน
อาการที่กล่าวมาทั้งหมด ผู้เขียนเคยผ่านพบมากับตัวเอง ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง จนคิดว่าตัวเราคงไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นพิธีกร หรือผู้ดำเนินรายการ ในงานต่างๆ ทั้งงานที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเสียแล้ว แต่ด้วยภารกิจการงานของนักวิชาการพัฒนาชุมชนที่จำเป็นต้องใช้ “ปาก” เป็นเครื่องมือทำงาน บังคับให้ต้องก้าวผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปให้ได้
ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ใช้การพูดในหลายๆ รูปแบบ เช่น งานพิธีกร ถ้าเป็นแบบบ้านๆ ก็จะเป็นงานบวช งานแต่ง ถ้าเป็นหน่วยราชการก็จะเป็นพิธีกรในการประชุม อบรม สัมมนา งานพิธีการ ตั้งแต่กลุ่มเล็กๆ จนถึงงานระดับชาติที่มีรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงาน ทำหน้าที่สร้างสีสันบรรยากาศให้งานราบรื่นและผู้เข้าร่วมงานมีความสุขเกษมเปรมปรีดิ์ นอกจากนี้ยังมีอีกงานหนึ่งที่ทำต่อเนื่องมาเป็นเวลา ๓ ปี คือ การเป็นโฆษกจัดรายการวิทยุ อย่างน้อย ๓ รายการใน ๓ สถานี เช่น สถานีวิทยุศึกษา (FM 92.5) สถานีวิทยุ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และสถานีวิทยุกรมอุตุนิยมวิทยา (สอต.) มีทั้งจัดสด และจัดแห้ง (คือการไปพูดออกอากาศสดๆ กับการบันทึกเสียงส่งไปออกอากาศ)
พูดถึงการเป็นนักจัดรายการวิทยุ ถ้าจะให้ถูกต้องตามระเบียบว่าด้วยการกระจายเสียง ผู้จัดรายการจะต้องสอบผ่านได้ใบผู้ประกาศจากกรมประชาสัมพันธ์ จึงจะถือว่าเป็นมืออาชีพ สามารถเป็นพิธีกรได้ทั้งรายการวิทยุและโทรทัศน์ (พิธีกรดาราทั้งหลายต้องการกันนักกันหนา) แต่การสอบนี้ ถือเป็นด่านที่นับว่าหินมาก ในการเปิดสอบของกรมประชาสัมพันธ์ครั้งหนึ่งๆ มีองค์กร หน่วยงานต่างๆ จัดส่งบุคลากรเข้าสอบ ๗๐-๘๐ คน แต่มีผู้สอบผ่านไม่เกินสิบ ได้สัก ๖-๗ คนก็นับว่าเก่งแล้ว ผู้เขียนเคยมีโอกาสเดินดุ่ยๆ เข้าไปสอบโดยไม่ผ่านการฝึกอบรมจากองค์กรวิชาชีพใด ไม่ได้ผ่านการติวเข้มหรือเรียนพิเศษเพิ่มเติมจากสถาบันไหน ครั้งนั้นมีผู้เข้าสอบจากทั่วประเทศ จำนวน ๖๓ คน ตั้งแต่นักศึกษาสาขา วิชาวิทยุ จนถึงนักจัดรายการมืออาชีพ เชื่อไหมว่ามีผู้สอบผ่านเพียง ๒ คนเท่านั้นเอง หลังจากครั้งนั้นแล้ว ผู้เขียนยังไม่เคยย่างกรายไปกรมประชาสัมพันธ์เพื่อเข้าสอบใบผู้ประกาศอีกเลย (ไว้มีโอกาสผู้เขียนจะได้เล่าประสบการณ์และถ่ายทอดบทเรียนว่ามีเทคนิคอย่างไรถึงได้เป็น ๑ ใน ๒ คนจากการสอบครั้งนั้น)
วกกลับมาที่เรื่องของอาการประหม่า ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของนักฝึกพูด เกิดจากการที่เรารู้สึกว่า เราได้ตกไปอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ทำให้ไม่มั่นใจ หวาดกังวล ซึ่งเจ้าสิ่งนี้แหละที่จะกลายมาเป็นตัวบ่อนทำลายประเด็นเนื้อหาที่เราเตรียมจะพูดไว้เสียหมดสิ้น สำหรับผู้เขียนนั้นเมื่อได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา หรืออาสาที่จะเป็นพิธีกรไม่ว่าจะเป็นงานใดๆ ประการแรก จะต้องทำความรู้สึกของตนเองให้เกิดความเต็มใจและยินดีที่ได้รับหน้าที่อันมีเกียรตินี้ เพราะความเต็มใจและรู้สึกยินดีจะช่วยปกป้องเราจากความประหม่า พูดง่ายๆ คือ คิดในเชิงบวกว่างานนี้เราเหมาะสมเขาจึงได้มอบหมายให้ ประการที่สอง ศึกษาลำดับขั้นตอนของงานที่เราจะต้องดำเนินกระบวนการ หากเป็นงานพิธีที่เคร่งครัด หรืองานราชพิธี จะต้องดูให้ละเอียดทุกขั้นตอน และดำเนินรายการให้เป็นไปตาม ลำดับขั้นตอนนั้นทุกประการ แต่หากเป็นงานทั่วไปที่มิได้เคร่งครัดนัก ก็มาออกแบบ จัดลำดับขั้นตอนตามความเหมาะสมเพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ทุกๆ ฝ่ายพึงพอใจ
ประการต่อมา หาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ประธานของงาน เจ้าภาพ ผู้กล่าวรายงาน ข้อมูลอื่นๆ เรียกว่า ศึกษาให้รู้ภาพรวมของงาน มองภาพใหญ่ให้เห็น เมื่อเราเป็นพิธีกรก็สามารถหยิบเอาภาพย่อยๆ ในภาพใหญ่มานำเสนอได้ และรู้ว่าควรเสนอข้อมูลใดในบรรยากาศแบบไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ข้อมูลบุคคลสำคัญ จะต้องแม่นยำทั้งชื่อ นามสกุล และตำแหน่งที่ถูกต้อง หากสามารถกล่าวชื่อ-ตำแหน่งได้ถูกต้องโดยไม่ดูโพยจะสร้างความประทับใจได้เป็นอย่างดี ในการหาขอมูลนี้ หากเป็นข้อมูลที่มีมาเพิ่มเรื่อยๆ จำเป็นต้องมีทีม หรือผู้ช่วยคอยจดมาให้ แต่ถ้าเป็นงานที่มีกิจกรรมอื่นประกอบ อาจต้องใช้จังหวะที่มีการแสดงบนเวที ปลีกตัวไปหาข้อมูลด้วยตนเอง ประการสุดท้าย การปิดรายการอย่างมีความหมาย หากเราได้ทำหน้าที่พิธีกรจนจบรายการ (หลายๆ งาน พิธีกรทำหน้าที่เฉพาะช่วงพิธีการ แล้วปล่อยให้เวทีว่ากันเองไปตามบรรยากาศ) ให้คิดว่านั่นเป็นโอกาสที่เราจะได้สร้างความตราตรึงใจแก่ผู้มาร่วมงาน ใช้เวลานี้ในการกล่าวสรุปบรรยากาศดีๆ ที่เกิดขึ้นในงาน กล่าวขอบคุณผู้เกี่ยวข้อง และหาข้อความที่มีความหมายซึ้งๆ มาอำลาพร้อมกับอำนวยพรให้ทุกคนพบกับสิ่งดีๆ หรือจะจบด้วยเพลงสำคัญๆ ก็ได้ ไม่ต้องเยิ่นเย้อแต่เน้นความประทับใจ
จากประสบการณ์การเป็นพิธีกรหลายๆ ครั้ง ผู้เขียนพบว่า ความประหม่าไม่ได้มีสาเหตุจากสภาพแวดล้อมภายนอก หรือบรรยากาศของงานแต่อย่างใด หากแต่เกิดจากความรู้สึกภายในของเราเอง เปรียบเทียบง่ายๆ ในงานหนึ่ง ถ้าเราไปร่วมในฐานะแขกของงานจะรู้สึกสนุกสนานไปกับบรรยากาศ แต่ในงานเดียวกันถ้าเราต้องเป็นพิธีกรความกดดันจะเกิดขึ้นทันที ดังนั้นควรขจัดความประหม่าด้วยการจัดการความรู้สึกของตัวเอง คิดเชิงบวก ว่าเรานี่ช่างโชคดีที่สุดที่ได้มีโอกาสยืนเด่นบนเวทีมากกว่าใครๆ ในงานนั้น.

ขุมความรู้
๑. การพูดเป็นกาสื่อสารขั้นพื้นฐานของมนุษย์
๒. ความประหม่าเกิดจากความรู้สึกภายในของคน ไม่ใช่จากสภาพแวดล้อมภายนอก
๓. การเป็นพิธีกรที่ดี ๑) ต้องยินดีและเต็มใจ ๒) รู้ลำดับขั้นตอน ๓) มีข้อมูล ๔) สรุปจบประทับใจ

แก่นความรู้
การขจัดความหม่าในการเป็นพิธีกร ทำได้โดยการจัดการความรู้สึกของตนเอง คิดเชิงบวก โดยสร้างความรู้สึกยินดีและเต็มใจที่มีโอกาสได้เป็นพิธีกรของงาน

----------------

ความรู้เรื่อง เทคนิคการให้บริการรับ-ส่งหนังสือราชการอย่างมีประสิทธิภาพ


เจ้าของความรู้ นางสาวพาฝัน ณ สงขลา
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ การลงรับหนังสือราชการของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ/กลุ่มงาน/ฝ่าย
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ ก.พ.-มิ.ย. 53
หัวหน้าฝ่ายอำนวยการมอบหมายให้ข้าพเจ้ารับผิดชอบงานธุรการในการให้บริการรับ-ส่งหนังสือราชการของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ/กลุ่มงาน/ฝ่าย ต่าง ๆ เพื่อเสนอให้ผู้บังคับบัญชาลงนามในเรื่องต่าง ๆ ในการปฏิบัติงานของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ
เมื่อได้รับมอบหมายสิ่งแรกที่ข้าพเจ้าดำเนินการคือการทบทวนและศึกษากระบวนการทำงานด้านนี้ของผู้รับผิดชอบเดิม พบว่าการลงรับหนังสือราชการใช้วิธีการลงบันทึกในเล่มลงรับหนังสือ แต่ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วการลงรับหนังสือด้วยสมุดเมื่อมีผู้ใดต้องการสืบค้นหนังสือจะยุ่งยากในการเปิดหาหรือสืบค้น โดยเฉพาะหากหนังสือเรื่องนั้นเข้ามานานมากแล้วหรือมีหนังสือเข้าเป็นจำนวนมาก ๆ ดังนั้น จึงคิดว่าหากเราพัฒนามาใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์(โปรแกรม Excel) มาจัดการในลักษณะฐานข้อมูลหนังสือเข้า จะช่วยในการปฏิบัติงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการสืบค้นมากขึ้น
ดังนั้น เมื่อมีหนังสือราชการที่ส่งมาถึงสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการในแต่ละวัน ข้าพเจ้า จึงดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
1. คัดแยกหนังสือแบ่งตามกลุ่มงาน / ฝ่าย
2. ประทับตราลงรับของสำนักงาน / วันที่ / กลุ่มงาน / ฝ่าย
3. จัดพิมพ์หนังสือที่คัดแยกไว้ลงในแบบฟอร์มที่จัดทำไว้ในโปรแกรม
4. ส่งให้หัวหน้าฝ่ายอำนวยการตรวจสอบและพิจารณาความถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง
5. พิมพ์แบบฟอร์มข้อมูลหนังสือลงรับเพื่อให้กลุ่มงาน / ฝ่าย เซ็นรับอย่างเป็นทางการ
6. จัดเก็บแบบฟอร์มที่กลุ่มงาน / ฝ่าย เซ็นรับ โดยแยกแฟ้มเก็บเป็นกลุ่มงาน / ฝ่าย เพื่อใช้เป็นหลักฐาน
การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้ในการแก้ไขปัญหางานจึงเป็นประโยชน์ ทำให้งานบรรลุผลสำเร็จสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะงานด้านธุรการ

ข้อควรคำนึง
1) การใช้โปรแกรมบันทึกข้อมูลหนังสือลงรับ ควรมีเจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่นที่สามารถทำงานแทนเราได้ในกรณีที่เราไม่มาปฏิบัติงานหรือไม่สามารถปฏิบัติงานได้
2) ผู้ปฏิบัติงานควรมีพื้นฐานความรู้ในเรื่องการใช้โปรแกรม

ขุมความรู้
1) ศึกษางานการลงรับหนังสือจากผู้รับผิดชอบเดิม
2) วิเคราะห์ปัญหาความยุ่งยากที่เกิดขึ้น
3) ประยุกต์โปรแกรมคอมพิวเตอร์มาแก้ปัญหา
4) ให้ผู้บังคับบัญชาตรวจสอบความถูกต้อง
5) จัดระบบแฟ้มตามกลุ่มงาน / ฝ่าย

แก่นความรู้
1) วิเคราะห์งานที่ผ่านมา
2) หาแนวทางพัฒนางานด้วย IT
3) ให้ผู้บังคับบัญชาตรวจสอบ
4) จัดระบบงาน

กลยุทธ์
วิเคราะห์ปัญหา นำพา IT มีระบบแฟ้มส่วนงาน

แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
การพัฒนากระบวนงานตาม PMQA หมวด 3 และ หมวด 6



---------------------------------------

ความรู้เรื่อง เทคนิคการเขียนสรุปความรู้(LEARNING LOG)


เจ้าของความรู้ นายกู้เกียรติ ญาติเสมอ
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ การบันทึกและสรุปความรู้หลังการฝึกอบรม
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2550
การเขียนสรุปความรู้หลังการเรียนรู้รายวิชา(LEARNING LOG) เป็นวิธีการบันทึกการเรียนรู้สิ่งต่างๆที่ผู้เข้าอบรมหรือผู้เข้าร่วมการเเลกเปลี่ยนเรียนรู้ใช้สรุปขุมความรู้ (Knowledge Asset) ที่ได้เรียนรู้ในวิชาหรือประเด็นที่พูดคุยกันในเวที ว่าเราได้ประเด็นความรู้อะไรบ้าง ท่านมีแนวคิดต่อความรู้นั้นอย่างไร รวมทั้งสามารถนำไปสู่การพัฒนางาน พัฒนาตน พัฒนาทีมได้อย่างไร ประโยชน์อีกประการหนึ่งคือ เป็นการทบทวนความรู้ที่ได้เเละเป็นเครื่องมือประเมินตนเองได้เป็นอย่างดี
สำหรับเทคนิคการเขียนนั้นมีด้วยกันหลากหลายวิธี ผมเองเคยมีประสบการณ์อยู่บ้างเนื่องจากเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆแล้วจำเป็นต้องสรุปแก่นความรู้นำเสนออาจารย์ผู้สอนหรือผู้บังคับบัญชา ดังนั้นจึงขอสกัดความรู้จากประสบการณ์ในการใช้เทคนิคการเขียนความรู้หลังการเรียนรู้รายวิชา(LEARNING LOG) ในมุมมองหรือประสบการณ์ของตัวเองเพื่อเเลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแวดวงคนทำงานเเบบเดียวกันครับ
วิธีการปฎิบัติ - ในการเขียนสรุปความรู้หลังการเรียนรู้รายวิชา(LEARNING LOG) ให้มีประสิทธิภาพนั้นสิ่งต้องเตรียมการเป็นลำดับเเรก คือ
การเตรียม
1.การเตรียมตัวเองให้รู้เเละเห็นภาพรวมของรายวิชาหรือประเด็นที่จะเรียนรู้ มาก่อนล่วงหน้า โดยการอ่านเค้าโครง ประเด็นหลักๆของวิชานั้นๆมาก่อนที่จะเข้าเรียนรู้จากวิทยากร เนื่องจากเมื่อเข้าสู่กระบวนการเเล้วจะไม่เสียเวลากับการลำดับความคิดหรือตีความเชื่อมโยงในประเด็นที่วิทยากรนำเสนอ
2.เตรียมอุปกรณ์การจดบันทึกให้พร้อม ครบถ้วน สะดวกกับการหยิบใช้ได้ทันท่วงที เช่น ปากกา ดินสอ ยางลบ ปากกาเน้นสี น้ำยาลบคำผิด กระดาษบันทึก ปากกาเมจิก เป็นต้น นอกจากการเตรียมตัวเตรียมอุปกรณ์ที่พร้อมสมบูรณ์เเล้ว การเรียนรู้เเละทักษะการฟัง การจับประเด็น การตีความ การสรุปเชื่อมโยงประเด็นความรู้ต่างๆ
ก็สำคัญ เช่นเดียวกัน โดยมีเทคนิคปฎิบัติ ดังนี้
ทักษะการเรียนรู้
1.การฟังอย่างตั้งใจและ มีสมาธิ ประเด็นนี้สำคัญมากเพราะสิ่งที่หลายๆคนเก็บประเด็นความรู้ไม่ได้หรือได้ไม่ครบถ้วน นั้นส่วนใหญ่เกิดจากการขาดสมาธิในการฟัง ดังนั้นการฟังเป็นปัจจัยสำคัญมาก ควรตัดสิ่งที่จะเป๊นอุปสรรคหรือทำลายสมาธิในการฟังให้ได้มากที่สุด
2.จดบันทึกประเด็นความรู้ในระหว่างวิทยากรบรรยาย โดยจดคำสำคัญ(Key Word) และจดประเด็นย่อยๆในเเต่ละช่วงของการบรรยาย ไว้ในสมุดบันทึกหรือกระดาษที่เตรียมไว้ หรือใช้เครื่องมือ แผนที่ความคิด(Mind Map)ในการจดบันทึกจะดียิ่งขึ้น เทคนิคการเขียนแผนที่ความคิดแบบง่ายสุด คือ หาประเด็นหลักของเรื่องแล้วกำหนดเป็นแก่นกลางของ Mind Map ประเด็นรองลงมาเป็นกิ่งแก้ว ส่วนขยายอื่นๆหรือรายละเอียดหาความสัมพันธ์กับ ประเด็นรองแล้วเขียนต่อเป็นกิ่งก้อย
3.นำประเด็นที่จดบันทึกได้จะด้วยเครื่องมือ Mind Map หรือจดเป็นประเด็น เป็นข้อๆ ก็ตามเเต่นำมาหาความสัมพันธ์หรือเป็นขั้นการสังเคราะห์หาแก่นหลักของความรู้ที่ได้ทั้งหมดเพื่อการนำเสนอในการสังเคราะห์นี้จะเป็นการอธิบายความเชื่อมโยงของประเด็นความรู้ที่บันทึกได้ทั้งหมด โดยต้องพิจารณาว่าข้อมูลหรือประเด็นความรู้นั้น เป็น องค์ประกอบกัน หรือเป็นกระบวนการ หรือเป็นสาเหตุ/ปัจจัย หรือมีความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างไรเพื่อนำเสนอในเชิงระบบ
การนำเสนอสรุปความรู้หรือแก่นความรู้ที่ได้รับหลังการเรียนรู้รายวิชา(LEARNING LOG)
จากเทคนิคการเตรียมตัว เตรียมอุปกรณ์และการมีทักษะในการเรียนรู้และจดบันทึกแก่นความรู้อย่างมีประสิทธิภาพเเล้วการนำเสนอความรู้ที่ได้เป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะจะเเสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าท่านเรียนรู้ได้อะไรมาบ้าง เเก่นอยู่ที่ไหน สัมพันธ์กันอย่างไร และท่านจะนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไรบ้าง ผมขอเสนอรูปแบบการนำเสนอแก่นความรู้เเละเทคนิคการเขียนดังนี้ครับ
1.รูปแบบการนำเสนอ
1)นำเสนอแบบเป็นเนื้อหาล้วนๆ ลักษณะเขียนเป็นร้อยเเก้วเน้นเฉพาะหัวข้อสำคัญ
2) นำเสนอแบบเป็นเนื้อหาล้วนๆ ลักษณะเขียนเป็นร้อยเเก้ว เเบ่งหัวข้อเป็นข้อๆเรียงกันไป
3) นำเสนอแบบเป็นเนื้อหา ใช้แผนที่ความคิดประกอบเพื่อนำเสนอ ความรู้ในภาพรวม
4) นำเสนอแบบเป็นเนื้อหา และใช้แผนภูมิ/แผนภาพประกอบเพื่อนำเสนอ ความรู้ในภาพรวม
5) ทักษะการเขียนเนื้อหาของแก่นความรู้ที่ได้รับหลังการเรียนรู้รายวิชา(LEARNING LOG) การเขียนเนื้อหาของความรู้ก็สำคัญเช่นเดียวกัน ผมมีเทคนิคการเขียนนำเสนอเนื้อหาที่ได้ ดังนี้ครับ
1. พิจารณาก่อนว่าโจทย์กำหนดให้เขียนภายในกี่หน้า ต้องวางเเผนการเขียนก่อนให้สามารถนำเสนอจบภายในจำนวนหน้าที่กำหนด โดยวิธีการ คือ ใช้ร่างในกระดาษบันทึก ตีเป็นหน้ากระดาษจำลองตามจำนวนหน้าที่โจทย์กำหนด ร่างส่วนประกอบต่างๆของเนื้อหาไว้ วางแผนว่าส่วนนำประมาณกี่บรรทัด ส่วนเนื้อหาทั้งหมดกี่บรรทัด มีแผนภูมิหรือแผนที่ความคิดหรือไม่จะวางไว้ตรงไหน ส่วนสรุปแค่ไหนเขียนร่างไว้ในแบบที่ร่าง จากนั้นจึงลงมือเขียน
2.การเขียนต้องเเบ่งสัดส่วนหน้ากระดาษออกเป็น 3 ส่วน ได้เเก่
1) ส่วนนำ เขียนบอกความเป็นมา/ความสำคัญของเนื้อหาความรู้ทีได้ ความยาวของส่วนนำเเล้วเเต่จำนวนหน้าที่โจทย์กำหนด ประมาณ 10% เนื้อหาทั้งหมด
2)ส่วนเนื้อหาหรือขุมความรู้หรือแก่นความรู้ทั้งหมด ต้องเขียนสิ่งที่ได้ ความสัมพันธ์ เชื่อมโยงให้ชัดเจน ควรมีแผนภูมิประกอบเพื่อนำเสนอความคิดรวบยอดที่ชัดเจนความยาวของส่วนนำเเล้วเเต่จำนวนหน้าที่โจทย์กำหนด ประมาณ 70% เนื้อหาทั้งหมด
3) ส่วนสรุป เป็นการสรุปแก่นความรู้สู่การประยุกต์ใช้ ท่านต้องเสนอเเนวคิดเเนวทางว่าท่านจะนำแก่นความรู้ทั้งหมดที่ได้ไปสู่การปฎิบัติอย่างไร และผลที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร มีเป้าหมายที่ชัดเจนวัดผลได้ มีผลกระทบต่อผู้รับบริการและส่งผลเชิงบวกต่อองค์กร
ความยาวของส่วนสรุปเเล้วเเต่จำนวนหน้าที่โจทย์กำหนด ประมาณ 20% เนื้อหาทั้งหมด
จากความรู้ที่กล่าวมาทั้งหมดจะเกิดผลเชิงรูปธรรมได้นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยความสำเร็จ สรุปเป็นขุมความรู้และแก่นความรู้ได้ดังนี้

ขุมความรู้
1.ความตั้งใจ มุ่งมั่นของท่านเอง
2.การมีสมาธิเเละการให้ความสำคัญกับเนื้อหาเเละกระบวนการที่ผู้จัดกำหนด/ มองเห็นประเด็นชัดเจน
3.บรรยากาศการฝึกอบรมที่ผ่อนคลาย
4.การมีส่วนร่วม
5.ความสามารถในการจัดกระบวนการของวิทยากร
6.สื่อประกอบการเรียนรู้ที่ชัดเจน น่าสนใจ

แก่นความรู้
1. จับประเด็นแม่น
2. นำเสนอง่าย
3. เป็นระบบ
4. สื่อความหมายชัด
แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
· แนวคิดการสรุปประเด็น
· การคิดเชิงระบบ
· การใช้แผนที่ความคิด กลยุทธ์ ฟังอย่างมีสมาธิ จับประเด็น เห็นระบบ

วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ความรู้เรื่อง เทคนิคการทำงานพัฒนากรในเขตชุมชนเมือง




เจ้าของความรู้ นายจุฬา บุญเย็น
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางเสาธง
เบอร์โทรศัพท์ 084-123-0981 , 0-2707-1633
เป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ การให้ความร่วมมือในการทำงานของผู้นำชุมชน
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ 2546
สถานที่เกิดเหตุการณ์ จังหวัดสมุทรปราการ

ปี 2546 ข้าพเจ้าย้ายมาจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์มาปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ มีความกังวลใจในการปฏิบัติงานเนื่องจากข้าพเจ้าเคยทำงานเฉพาะต่างจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ชนบท จึงมีความวิตกเรื่องการให้ความร่วมมือของผู้นำชุมชนและสภาพพื้นที่เขตเมืองที่มีทั้งคนและรถยนต์ตลอดจนเส้นทางในการเดินทางไปปฏิบัติงาน รวมถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ เพราะคิดว่าคนในเขตชุมชนเมืองน่าจะมีความรู้ความสามารถเนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งสถานศึกษาที่ดี ๆ
เมื่อเดินทางมาปฏิบัติงานที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ สิ่งที่สร้างความประทับใจแรกก็คือ เพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชามีความเป็นกันเองและให้กำลังใจกับเพื่อร่วมงานใหม่และคอยแนะนำเรื่องต่าง ๆ เช่น สถานที่ บุคคลสำคัญ สภาพพื้นที่ งานหรือกิจกรรมของอำเภอที่ดำเนินการ
การดำเนินงานในพื้นที่สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ
1. ต้องมีพัฒนากรเดิมหรือคนที่อยู่ในอำเภอพาไปแนะนำพื้นที่และผู้นำฯ เนื่องจากคนเดิมจะมีความคุ้นเคยกันมาก่อนทำให้คนใหม่ได้ข้อมูลเรื่องสภาพพื้นที่และผู้นำชุมชนแต่ละคนเป็นอย่างไร (พอสังเขป)
2. เมื่อรู้จักคน สถานที่ แล้วต้องหมั่นเข้าไปหา เช่น พูดคุย ประสานงานในเบื้องต้นไม่ควรจะใช้โทรศัพท์สอบถามข้อมูลเรื่องงาน ควรจะเดินทางไปพบด้วยตนเองเพื่อจะให้ความสำคัญกับผู้นำชุมชน
3. การทำงาน พช. ในการนัดประชุม / จัดเวทีต่าง ๆ ส่วนใหญ่ประชาชนในเขตชุมชนเมืองจะไม่ค่อยมีเวลาถ้าเป็นไปได้ พัฒนากรควรสละเวลาในวันเสาร์ – อาทิตย์ เพราะจะได้ความร่วมมือจากผู้นำชุมชนและประชาชนมากขึ้น
4. การดำเนินงานพัฒนาชุมชนในชุมชน/หมู่บ้าน จะต้องหาผู้นำที่มีความสนิทเป็นพิเศษไว้ในแต่ละหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อเวลามีปัญหาหนัก ๆ แก้ไขยาก ๆ จะได้หาข้อมูลในเชิงลึก(ข้อมูลที่เปิดเผยได้)
5. ศึกษาข้อมูลในเชิงลึกกับผู้นำที่สนิท(ไว้ใจได้) ว่าคนในพื้นที่หรือหน่วยงานในพื้นที่ คิดยังไงกับพัฒนากรหรือพัฒนาชุมชน เพื่อจะได้ปรับกระบวน / วิธีการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ได้
การทำงานพัฒนากรในเขตเมืองหรือชนบท สิ่งสำคัญคือความตั้งใจ ความสนใจ ทั้งงาน พช.และผู้นำชุมชน และมีการศึกษาข้อมูลในเรื่องงาน / ความรู้รอบตัวให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ โดยพร้อมที่จะพัฒนา “คน” และพัฒนา “ตัวพัฒนากร” ตลอดเวลา

ขุมความรู้
1. แสวงหาพี่เลี้ยง / พัฒนากรเก่า
2. ทำความคุ้นเคยกับคนในชุมชน
3. เสียสละโดยเฉพาะเวลาของเจ้าหน้าที่
4. หาคนในชุมชนรู้ใจทำงานร่วม
5. ศึกษาหาข้อมูลเชิงลึก

แก่นความรู้
1. พี่เลี้ยงสอนแนะนำเข้าหาชุมชน
2. สร้างความคุ้นเคย
3. เสียสละ
4. เจาะลึกข้อมูล

กลยุทธ์
หาพี่เลี้ยง สร้างความคุ้นเคย เจาะลึกข้อมูล

ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
1. การทำงานแบบมีส่วนร่วม
2. หลักการพัฒนาชุมชน

ความรู้เรื่อง เทคนิคการพื้นฟูและพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชนเชิงคุณภาพ


เจ้าของความรู้ นางสาวสุนันทา จำปา
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนไม่มีกิจกรรมหรือการขับเคลื่อนในชุมชน
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2545
สถานที่เกิดเหตุการณ์ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อปีงบประมาณ 2551- 2552 กรมการพัฒนาชุมชน ได้กำหนดให้สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอส่งเสริมให้มีศูนย์เรียนรู้ชุมชนระดับอำเภอ ซึ่งในขณะนั้น ข้าพเจ้าเป็นพัฒนากรอยู่ที่อำเภอบางพลี และพัฒนาการอำเภอได้มอบหมายให้ไปศึกษาข้อมูลและหาความรู้เกี่ยวกับศูนย์เรียนรู้ชุมชน ซึ่งจริง ๆ แล้วศูนย์เรียนรู้ชุมชนไม่ใช่เรื่องใหม่ของพัฒนาชุมชน แต่ด้วยความที่เพิ่งจะมาเป็นพัฒนากร จึงทำให้เป็นเรื่องใหม่ของข้าพเจ้า และเมื่อพัฒนาการอำเภอมอบหมาย เราซึ่งเป็นพัฒนากรก็ต้องทำให้ดีที่สุด หลังจากนั้นข้าพเจ้าจึงได้ศึกษาข้อหาข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้ชุมชน และสำรวจว่าในระดับอำเภอนั้นมีศูนย์เรียนรู้ชุมชนไหนบ้าง ที่ดำเนินการอยู่หรือเลิกดำเนินการแล้ว หรือมีแหล่งเรียนรู้ในชุมชนใดที่พอจะพื้นฟูให้เป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนในระดับอำเภอได้บ้าง เมื่อเริ่มดำเนินการพัฒนาการอำเภอก็ได้ช่วยสนับสนุนและกำหนดให้ตำบลที่ข้าพเจ้ารับผิดชอบเป็นจุดฟื้นฟูศูนย์เรียนรู้เชิงคุณภาพ โดยมอบหมายให้ข้าพเจ้าไปพูดคุยกับผู้นำชุมชนเกี่ยวกับการฟื้นฟูศูนย์เรียนรู้ชุมชน ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ ซึ่งในขณะนั้นศูนย์เรียนรู้ชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกนั้นเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านบางพลี ซึ่งมีกิจกรรมของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว โดยใช้เป็นสถานที่เรียนเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นสถานที่ของเอกชน ข้าพเจ้าและพัฒนาการอำเภอพร้อมทั้งทีมงานพัฒนาชุมชนจึงได้เข้าไปร่วมกันขายความคิด และมีการประชุมประชาคมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของผู้นำชุมชนเกี่ยวกับการพื้นฟูและส่งเสริมให้ศูนย์เรียนรู้ดังกล่าว เป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีชีวิตขึ้นมา จากการที่เข้าไปประชุมและร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นหลายต่อหลายครั้งในชุมชน ก็ได้เห็นถึงความเข้มแข็งของผู้นำชุมชน และความสามัคคีของคนในชุมชน และข้าพเจ้าได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกับชุมชนวางแผนการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชนของหมู่บ้านอย่างจริงจัง ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจและเกาะติดพูดคุย ชักชวนชาวบ้านในการฟื้นศูนย์เรียนรู้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งจึงบรรลุผล ชาวบ้านโดยแกนนำที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ ออกเดินหน้าในการปรับปรุงศูนย์ใหม่ จัดระเบียบ สื่อ อุปกรณ์และที่สำคัญการชักชวนให้คนในชุมชนเข้ามาใช้ประโยชน์ในศูนย์ฯ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมใดๆในหมู่บ้านก็จะนัดหมายมาที่นี่ ทำให้ศูนย์เรียนรู้นี้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งเป็นเพราะความร่วมมือของคนในชุมชนโดยแท้
ไม่นานจากนั้นศูนย์เรียนรู้นี้จึงเป็นที่พบปะ พูดคุยร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อการศึกษาดูงาน เป็นแหล่งต้อนรับแขกของชุมชน ข้าพเจ้าภาคภูมิใจมากที่เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ศูนย์เรียนรู้มีชีวิต มีกิจกรรมมากขึ้น
ขุมความรู้1) ศึกษาหาข้อมูลอย่างจริงจัง 2) มีความตั้งใจและมุ่งมั่นในการทำงาน 3) ร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น 4) เสนอแนะโครงการ/กิจกรรมแก่ในเวทีประชาคม
5) ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ 6) ร่วมประชุมปรึกษาหารือกับผู้นำชุมชนและคนในชุมชน 7) เป็นที่ปรึกษาให้ชุมชนได้
แก่นความรู้ 1)ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม 2)มุ่งมั่นตั้งใจ 3)ปฏิบัติจริง
4) มีส่วนร่วม

กลยุทธ์ ชี้ประโยชน์ เกาะติด มีส่วนร่วม
แนวคิด/ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
หลักการพัฒนาชุมชน /แนวทางการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้

ความรู้เรื่อง เทคนิคการสอบราคาจ้าง


เจ้าของความรู้ นางสุธาทิพย์ แช่มนิล
ตำแหน่ง เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ
เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวก 089-1091819
เป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ ขั้นตอนการประกาศสอบราคาจ้าง
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ เดือนมีนาคม 2553
สถานที่เกิดเหตุการณ์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ

ดิฉันได้รับมอบหมายให้ทำงานเกี่ยวกับการเงินคือรับผิดชอบการเบิก-จ่าย เงินนอกงบประมาณ ซึ่งดิฉันไม่เคยมีความรู้ทางด้านนี้มาก่อน ช่วงแรกก็คิดหนักเหมือนกันว่าจะทำยังไงดี ทำการเงินระเบียบเยอะแยะมากมาย ขั้นตอนเป็นอย่างไรบ้างในสมองว่างเปล่าคิดอะไรไม่ออกเลย แต่เมื่อผู้บังคับบัญชามอบหมายก็จะต้องทำ ต้องศึกษา ต้องเรียนรู้ และแล้ววันนั้นก็มาถึงวันที่จังหวัดได้อนุมัติโครงการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน OTOP ของจังหวัด โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าพระนครใต้จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งได้รับงบประมาณมา 2,000,000 บาท จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการที่ 1 โครงการจัดสมัชชาเครือข่าย OTOP สู่การพัฒนาที่สร้างสรรค์ งบประมาณ 200,000 บาท(สองแสนบาทถ้วน) โครงการที่ 2 จัดมหกรรมแห่งภูมิปัญญา แสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP จำนวน 2 ครั้ง ๆ ละ 241,500 บาท เป็นจำนวนเงิน 483,000 บาท(สี่แสนแปดหมื่นสามพันบาทถ้วน) โครงการที่ 3 โครงการ OTOP MOBILE TO FACTORY งบประมาณ 952,000 บาท(เก้าแสนห้าหมื่นสองพันบาทถ้วน) โครงการที่ 4 โครงการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ OTOP งบประมาณ 365,000 บาท(สามแสนหกหมื่นห้าพันบาทถ้วน) ซึ่งโครงการที่ 3 และโครงการที่ 4 จะต้องมีการสอบราคา เนื่องจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และแก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดไว้ว่าการซื้อหรือการจ้างครั้งหนึ่งซึ่งราคาเกินกว่า 100,000 แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท จะต้องใช้วิธีสอบราคา
ดิฉันเริ่มจากการสอบถามป้าที่ทำงานบ้าง โทรไปหาพี่ที่ทำการเงินที่กรมฯ บ้าง โทรหาพี่ที่ทำการเงินที่จังหวัดตรัง จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดนครราชสีมา ดูจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และแก้ไขเพิ่มเติม ศึกษาจากเอกสารการอบรมของหน่วยงานต่าง ๆ และทำการค้นหาจากอินเตอร์เน็ตบาง ก็พยายามหาข้อมูลให้มากที่สุดว่าทำอย่างไรที่ถูกต้องตามขั้นตอน ตามระเบียบที่เค้ากำหนด
การที่จะสอบราคาจ้าง
ขั้นแรก เราจะต้องทราบรายละเอียดพัสดุที่เราจะสอบราคาว่ามีอะไรบ้าง จำนวนเท่าไหร่ เป็นเงินเท่าไหร่ และที่สำคัญเราจะต้องระบุรายละเอียดทั้งหมดให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะระบุลงไปได้
เช่น โต๊ะอะไร ขนาดกว้างเท่าไหร่ ยาวเท่าไหร่ พื้นโต๊ะมีลักษณะอย่างไร สีอะไร ถ้าเป็นโต๊ะไม้ใช้ไม้อะไร ขาโต๊ะแบบไหน ขาไม้ ขาเหล็ก ขาอะลูมิเนียม ถ้าเป็นขาเหล็กเหล็กหนาเท่าไหร่ พับเก็บได้หรือเปล่า เป็นต้น
ขั้นที่สอง เราจะต้องร่างสัญญา โดยระบุรายละเอียดให้ครบถ้วน เช่นใครเป็นผู้ว่าจ้าง ใครเป็นผู้รับจ้าง มีรายละเอียดอะไรบ้างที่จ้าง นำอะไรมาเป็นหลักประกันสัญญา จำนวนเงินเท่าไหร่ ภาษีมูลค่าเพิ่มเท่าไหร่ (จะต้องใส่จุดทศนิยมสองตำแหน่งด้วย) การจ่ายเงินจ่ายแบบครั้งเดียวหรือจ่ายเป็นงวด ๆ กำหนดส่งงานเมื่อไหร่ ถ้าส่งงานไม่ตรงตามกำหนดจะเสียค่าปรับวันละเท่าไหร่ และเสร็จงานแล้วจะคืนหลักประกันสัญญาภายในกี่วัน กี่เดือน เป็นต้น
ขั้นที่สาม ขั้นนี้แหละเราจะต้องทำหนังสือเสนอผู้ว่าฯเริ่มตั้งแต่ 1.ขออนุมัติดำเนินโครงการ 2. ขออนุมัติสอบราคาจ้าง (โดยแนบโครงการ และรายละเอียดค่าใช้จ่าย) 3. แต่งตั้งคณะกรรมการเปิดซองสอบราคา 4. แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ 5. ประกาศจังหวัดสมุทรปราการ เรื่อง สอบราคาตามโครงการ... (จะต้องระบุให้ชัดเจน วันเวลาและสถานที่ ยื่นซองสอบราคา และระบุวันกำหนดเปิดซองสอบราคาด้วย) 6. เอกสารสอบราคา (ต้องระบุ เช่น รูปแบบ รายละเอียด คุณสมบัติของ ผู้เสนอราคา หลักฐานการเสนอราคา รายละเอียดการยื่นซองสอบราคา หลักเกณฑ์และสิทธิในการพิจารณาราคา การทำสัญญาจ้าง อัตราค่าปรับ การรับประกันความชำรุดบกพร่อง ข้อสงวนสิทธิในการเสนอราคาและอื่น ๆ
ขั้นที่สี่ คือการประกาศสอบราคา เราจะต้องปิดประกาศ และเผยแพร่เอกสารสอบราคาก่อนวันเปิดซองไม่น้อยกว่า 10 วัน โดยเผยแพร่ให้ได้มากที่สุด ซึ่งดิฉันได้นำไปปิดประกาศไว้ที่หน้าสำนักงานพัฒนาชุมชน ศาลากลางจังหวัด ส่งประกาศไปยังสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ กรมประชาสัมพันธ์ กรมการพัฒนาชุมชน และนำขึ้นเว็บไซต์ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด โดยเอกสารที่ส่งจะต้องมี 1. ประกาศจังหวัดสมุทรปราการ 2. เอกสารสอบราคา 3. รายละเอียดพัสดุหรือรายการที่จ้าง (ห้ามระบุจำนวนเงินลงไปเด็ดขาด) 4. ใบเสนอราคา 5. แบบสัญญาจ้าง 6. บัญชีเอกสารส่วนที่ 1 7. บัญชีเอกสารส่วนที่ 2
ขั้นที่ห้า ขั้นการรับซองและเปิดซองสอบราคา เมื่อมีบริษัทมายื่นซองสอบราคา ดิฉันจะต้องลงรับ และระบุวันเวลาที่รับซอง โดยไม่เปิดซองสอบราคา และมอบให้หัวหน้าฝ่ายอำนวยการเก็บรักษาซอง เมื่อถึงเวลาเปิดซองแล้วค่อยมอบให้คณะกรรมการเปิดซองสอบราคา คณะกรรมการเปิดซองต้องตรวจสอบหลักฐาน คุณสมบัติ ตรวจสอบรายละเอียดพัสดุที่แนบมา และที่สำคัญจำนวนเงินที่เสนอมาแต่ละรายการด้วย เมื่อดูรายละเอียดของแต่ละบริษัทแล้วให้เปรียบเทียบความคุ้มค่า และผลประโยชน์ของทางราชการให้มากที่สุด ถ้าบริษัทที่เราเลือกแต่ว่าราคาสูงกว่าที่ตั้งไว้ก็ให้เรียกบริษัทนั้นมาทำการต่อรองราคาให้ต่ำสุดเท่าที่จะต่ำได้ อย่าลืม ประธานกรรมการ และกรรมการ จะต้องเซ็น
กำกับเอกสารทุกหน้าที่บริษัทยื่นซองสอบราคาด้วย ซึ่งหนึ่งในกรรมการเปิดซองก็มีดิฉันด้วย และดิฉันได้ทำตารางเปรียบเทียบราคาวัสดุของแต่ละบริษัท เก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย
ขั้นที่หก รายงานผลการเปิดซองสอบราคาให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบด้วย
ขั้นที่เจ็ด นัดบริษัทมาทำสัญญา
ขั้นที่แปด เมื่อบริษัทส่งมอบงาน ให้คณะกรรมการตรวจรับทำการตรวจรายละเอียดของพัสดุที่ส่งให้เรียบร้อยว่าเป็นไปตามที่ระบุในสัญญาหรือเปล่า และจะต้องตรวจรับหลังวันส่งมอบงานไม่เกิน 5 วัน
ขั้นที่เก้า รายงานการตรวจรับพัสดุให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ เป็นอันว่าจบขั้นตอนการสอบราคาจ้างซะที
ในการจ้างบริษัทมีปัญหาหลายประการ บางครั้งเราตรวจสอบรายละเอียดแล้วก็ยังมีปัญหาหลายอย่าง เช่น บางครั้งบริษัทที่ได้รับการสอบราคาก็ขายสิทธิ์ให้กับอีกบริษัทหนึ่ง เวลาเบิกจ่ายต้องต้องเบิกจ่ายให้กับอีกบริษัทหนึ่ง ซึ่งตรงจุดนี้เราไม่สามารถทราบได้เลยว่าบริษัทที่ได้รับคัดเลือก มีฐานะการเงินเป็นอย่างไร ผลงานของบริษัทที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง ผลงานดีมั้ย ส่งงานตรงเวลามั้ย ซึ่งในจุดนี้เราไม่สามารถทราบได้เลย
ดิฉันจึงคิดว่าการสอบราคาจ้างเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จะต้องทราบทั้งกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และรายละเอียดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสัญญาต้องรัดกุมห้ามมีช่องโหว่ ถูกต้อง ครบถ้วน รายละเอียดพัสดุที่จ้างทำก็ต้องใส่ให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้
บันทึกขุมความรู้ (Knowledge Assets)
- ศึกษารายละเอียดพัสดุที่เราจะสอบราคา
- ศึกษาค้นคว้าจากแหล่งต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ ระเบียบสำนักนายกฯ เอกสารประกอบการฝึกอบรม
- ร่างสัญญาโดยระบุรายละเอียดให้ครบถ้วน
- ทำหนังสือเสนอผู้ว่าฯ
- ประกาศสอบราคา เราจะต้องปิดประกาศ และเผยแพร่เอกสารสอบราคา
- การรับซองและเปิดซองสอบราคา เมื่อมีบริษัทมายื่นซองสอบราคา ดิฉันจะต้องลงรับ และ ระบุวันเวลาที่รับซอง โดยไม่เปิดซองสอบราคา
- รายงานผลการเปิดซองสอบราคาให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ

แก่นความรู้ (Core Competency)
1. ศึกษารายละเอียด
2. ร่างสัญญาโดยระบุรายละเอียด
3. ประกาศสอบราคา
4. รับซองและเปิดซองสอบราคา
5. รายงานผล
กลยุทธ์ในการทำงาน
ศึกษา /ร่างสัญญา/รับซอง/เปิดซอง/สอบราคา/รายงานผล

กฎระเบียบ แนวคิด ทฤษฎี ที่เกี่ยวข้อง
- ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
- เอกสารประกอบการอบรมจากสำนักนายกรัฐมนตรี
- เอกสารประกอบการอบรมจากสำนักงานจังหวัดสมุทรปราการ
- จากเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง

คลังความรู้พัฒนาชุมชนสมุทรปราการ: KM จังหวัดกับสิ่งที่ผมค้นพบ(4)

คลังความรู้พัฒนาชุมชนสมุทรปราการ: KM จังหวัดกับสิ่งที่ผมค้นพบ(4): "ต่อจากความเดิมตอนที่เเล้ว ทุกจังหวัดก็ไม่รู้จะจัดการความรู้กันอย่างไรดี ให้ตรงใจเเล้วเกิดมรรคผลจริงๆ จังหวัดไหนมีนักวิชาการผู้มีประสบการณ์..."

KM จังหวัดกับสิ่งที่ผมค้นพบ(4)



ต่อจากความเดิมตอนที่เเล้ว ทุกจังหวัดก็ไม่รู้จะจัดการความรู้กันอย่างไรดี ให้ตรงใจเเล้วเกิดมรรคผลจริงๆ จังหวัดไหนมีนักวิชาการผู้มีประสบการณ์เรื่อง KM มาบ้างหรือมีมากโข ก็รอดตัวไป เพราะโจทย์นี้มีทางออก เเต่บางจังหวัดเกิดหาทรัพยากร ผู้รู้ด้านนี้ไม่ได้ ทางออกคือ


1. เชิญเจ้าหน้าที่กรมฯไปสร้างการเรียนรู้(โดยเจียดหางบประมาณเอง)


2. ชักจูงครู อาจารย์มหาวิทยาลัยมาร่วมงานเป็นเเกนเดินให้


3. พึ่งศูนย์ศึกษาเเละพัฒนาชุมชนจังหวัดในเขตตรวจราชการเดียวกัน


4. หาใครไม่ได้ พึ่งตนเอง เป็นตัวเลือกสุดท้าย


ถามว่าวิธีการทั้ง 4 ข้อ ข้อไหนเจ๋งกว่ากัน หากถามผมเเละต้องการคำตอบด้วยความตั้งใจจริง ผมว่า ดีทุกวิธีการครับ เเต่จะดีหรือไม่อยู่ที่ว่า จังหวัดเกิดการเรียนรู้หรือมีประสบการณ์การจัดการความรู้เพิ่มขึ้นหรือไม่ต่างหาก เท่าที่สืบเสาะกระบวนการที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดขับเคลื่อนเรื่อง KM พบว่าส่วนใหญ่จะลุยเองครับ ผมชื่นชมมากๆๆๆ ขอปรบมือให้ ท่านเดินเถอะครับ ผิด-ถูก เป็นเรื่องรอง การเกิดทักษะใหม่ที่งอกเงยจากการทำงานที่ผ่านมานั้น ยิ่งใหญ่เหลือเกิน........ ผมเองก็ตลุยเอง แม้จะเคยมีประสบการณ์มาบ้างเเต่เป็นคนละบริบทกันโดยสิ้นเชิง.........ทำให้รู้ธรรมชาติของพี่น้องนักพัฒนาขึ้นบานตะไท หากกลับไปอยู่กรมฯอีกครั้ง ผมพอมีองค์ความรู้ในการทำงานกับกลไกสำคัญของกรมฯในระดับพื้นที่มากขึ้น...ผมหวังอย่างนั้นจริงๆ

KM จังหวัดกับสิ่งที่ผมค้นพบ(3)


วันนี้เรามาคุยเรื่องความเข้าใจของเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนกับการจัดการความรู้กันนะครับ....จากที่เคยกล่าวไว้ตั้งเเต่ต้นว่ากรมการพัฒนาชุมชน เราเริ่มการวางระบบการจัดการความรู้อย่างชัดเจน เมื่อปี พ.ศ. 2549 ซึ่งดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เเต่ปัญหาที่พบคือ เรื่องความรู้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ ต่างเข้าใจคำว่าการจัดการความรู้ไปคนละทิศ คนละทาง สาเหตุ คือ ในเเต่ละปีงบประมาณกรมฯจะมอบหน่วยปฎิบัติให้เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ 3 ปี 3 หน่วยปฎิบัติ ดังนั้นในเเต่ละปีจึงเป็นลักษณะตัวใคร ตัวมัน ต่างคนต่างทำ หน่วยงานในระดับภูมิภาคยิ่งงงกันไปใหญ๋ ดังนั้นทุกวันนี้หลายจังหวัดจึงงง กลับทำไม่ถูก ท่านจังหวัดทั้งหลายไม่ต้องตกใจ ค่อยเป็นค่อยไปนะ.....

วันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553

KM จังหวัดกับสิ่งที่ผมค้นพบ(2)


วันนี้ผมจะเล่าต่อในสิ่งที่พบเจอจากการทำ KM ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด เมื่อวานพูดถึงเรื่องส่วนราชการมักจ้างบริษัท ที่ปรึกษาเป็นคนทำKM หรือดำเนินการตามคำรับรองการปฎิบัติราชการให้ ผมไม่ได้ปฏิเสธเเต่ ผมมองว่าหากส่วนราชการจ้างเเล้ว คนราชการต้องเก่งขึ้นด้วยไม่ใช่บริษัทรวย เเต่ข้าราชการฉลาดน้อยลง ปีที่กรมการพัฒนาชุมชนจ้างบริษัทที่ปรึกษามาวางระบบการจัดการความรู้ ปีนั้นผมเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ดังนั้นด้วยกลัวจะเสียเปรียบบริษัท หรือกลัวไม่คุ้มค่า ผมตามติดบริษัทตลอด เพื่อเก็บรายละเอียดการวางระบบให้หมดทุกกระบวนการ เเละเปรียบเสมือนจุดตั้งต้นให้ผมมี KM ฝังสมองนับเเต่นั้นเป็นต้นมา

สำหรับปีนี้เมื่อผมย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ที่จังหวัด จึงเป็นโอกาสดี ที่จะได้นำระบบการจัดการความรู้ที่เคยทำที่กรมฯมาทดลองติดตั้งให้หน่วยงานในระดับจังหวัดดูบ้าง ปรากฎว่าผ่านไปครึ่งปี เกิดบทเรียนเกิดขึ้นกับผมมากมาย เเละพอจะวิเคราะห์ปัจจัยเเห่งความสำเร็จของการจัดการความรู้ในระดับจังหวัดได้โดยสรุป ดังนี้

1.คน หรือเจ้าหน้าที่ของจังหวัดเองจักต้องมีจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม KM

2.ความเชื่อ เจ้าหน้าที่โดยเฉพาะผู้บริหารต้องมีความเชื่อว่า KM นำสู่การพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพได้

3.ความรู้ ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ ต้องเข้าใจKM อย่างลึกซึ้ง มองเป็นรูปธรรมได้อย่างเเจ่มชัด

4.ผู้บริหารต้องเกื้อหนุนเเละออกหน้านำองค์กรจัดการความรู้

5.มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

6.เริ่มจากการชื่นชมยินดี ไม่ตัดสินว่าใครดี ใครไม่ดี ให้เกียรติ

7.มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเผยแพร่ความรู้รองรับ

8.มีระบบการสื่อสารที่ดีเเละรวดเร็ว

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ในทัศนคติเเล้ว ผมมองว่ากลไกที่จะขับเคลื่อนได้ตลอดรอดฝั่งคือ ตัวเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกระดับนั่นเอง

เอาละขอรับ...ไว้ตอนหน้าจะคุยต่อขอรับ.........

วันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2553

KM จังหวัดกับสิ่งที่ผมค้นพบ(1)


ผมมารับราชการอยู่ภูธร(ชานกรุง)เกือบปีเเล้ว งานที่ต้องรับผิดชอบดำเนินการหลัก และเป็นงานที่ผมถนัดเเละอาสาทำทุกครั้งเมื่อมีโอกาส คือ การจัดการความรู้ หรือ KM การจัดการความรู้แท้จริงเเล้วสำนักงานพัฒนาชุมชนทุกจังหวัด พัฒนากรทุกคน ต่างทำกันมานาน เราต่างเรียกชื่อกันไปต่างๆนาๆ เช่น ถอดบทเรียน สรุปบทเรียน ทบทวนหลังการทำงาน ประชุมสะท้อนผลการทำงาน เป็นต้น เเต่มาเมื่อ ปี 2549 สำนักงาน ก.พ.ร. บังคับให้ทุกส่วนราชการได้วางระบบการบริหารจัดการความรู้ เเละวัด ประเมินเป็นคำรับรองการปฎิบัติราชการ ในมิติที่ 4 การพัฒนาองค์กร ซึ่งเป้าหมายในครั้งนั้นเพื่อให้ส่วนราชการได้ริเริ่มติดตั้ง KM เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ลูกค้าใหญ่ขององค์กรรัฐ ผมได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานการดำเนินงานวางระบบการจัดการความรู้ในองค์กร กรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งปีนั้น KM ยังเป็นยาขมให้ทุกองค์กรได้ปวดเศียร เวียนเกล้า เป็นทิวเเถว

กรมการพัฒนาชุมชนเราก็เช่นเดียวกัน มีอาการไม่แพ้หน่วยงานอื่นๆ บังเอิญผู้บริหารยุคนั้น ท่านใจถึง จ้างบริษัท ที่ปรึกษามาช่วยในการวางระบบ...เมื่อพูดถึงการจ้างบริษัท ที่ปรึกษาเเล้ว ทุกวันนี้ ผมเสียดายเงิน บางจังหวัดจ้างอย่างเดียวให้ความสำคัญกับผลผลิตที่จะได้ ไปตอบ ก.พ.ร. เเละบริษัท ทริส เท่านั้น ไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้อะไร งอกเงยมาเลย...ษริษัท ก็เร่งทำๆๆๆๆให้เสร็จ ส่วนราชการหรือจังหวัดไม่ต้องยุ่งรอรับผลผลิตอย่างเดียว กระบวนการษริษัทว่าเอง เก่งเอง เงิน กำไร ก็ได้อีก ราชการความรู้เท่าเดิม เฮ้อ เสียดาย จัง.....เอาไว้ตอน 2 จะเล่าต่อขอรับ

วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ความรู้เรื่อง เทคนิคการจัดหาเงินสมทบกองทุนพัฒนาเด็กชนบท


เจ้าของความรู้ นางสมใจ ลอยชื่น
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญ
สังกัด กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน
เบอร์โทรศัพท์ 089-921-8227
เป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ การช่วยเหลือเด็กยากจนและด้อยโอกาส
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2546
สถานที่เกิดเหตุการณ์ จังหวัดสมุทรปราการ

เมื่อต้นปี 2546 ดิฉันย้ายการปฏิบัติราชการจากอำเภอพระประแดง มาปฏิบัติราชการที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ โดยได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่นักวิชาการพัฒนาชุมชน 5 กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน รับผิดชอบงานองค์กร กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และงานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้ง รับผิดชอบการดำเนินงานกองทุนพัฒนาเด็กชนบทในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งจัดได้จัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 เพื่อเป็นกองทุนให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนอายุแรกเกิด ถึง 6 ปี ที่ยากจนและด้อยโอกาส ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนได้มอบหมายให้ทุกจังหวัดดำเนินการ ดิฉันเคยได้รับผิดชอบงานนี้มาก่อนแต่เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำดิฉันก็ตั้งใจจะทำให้ดีที่สุด เสน่ห์ของการดำเนินงานกองทุนพัฒนาเด็กชนบท คือ ทำแล้วมีความสุขที่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาส โจทย์ที่ดิฉันตั้งไว้ คือ จะทำอย่างไรจึงจะหาเงินเข้าสมทบกองทุนให้ได้มากที่สุด เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือเด็กยากจนและด้อยโอกาสของจังหวัดตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ
เมื่อรับผิดชอบงานกองทุนพัฒนาเด็กชนบทของจังหวัดฯ ประเด็นแรกของดิฉันในการศึกษางานนี้ คือ สืบค้นแฟ้มงานที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่โครงการกิจกรรมจัดหาทุน การใช้จ่ายเงินทุนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ พร้อมทั้งศึกษาระเบียบแนวทางปฏิบัติและหนังสือสั่งการของกรมการพัฒนาชุมชนโดยละเอียดพร้อมทั้งปรึกษาผู้บังคับบัญชาทำให้ดิฉันมีความเข้าใจการดำเนินงานกองทุนพัฒนาเด็กชนบทมากขึ้น
จากการศึกษาพบว่า เงินกองทุนได้มาจากการจัดงานทอดผ้าป่าสมทบกองทุนพัฒนาเด็กชนบทปีละ 1 ครั้ง ได้เงินประมาณ 5 – 6 หมื่นบาท จัดตั้งตู้รับบริจาคสมทบกองทุนตามห้างสรรพสินค้าและธนาคารภายในจังหวัด จากนั้นดิฉันก็นำข้อมูลที่ได้มาประยุกต์ใช้และวางแผนการดำเนินงานกองทุนพัฒนาเด็กฯ โดยได้ปรึกษาหารือกับผู้บังคับบัญชา และได้ออกไปติดตามดูว่าตู้บริจาคตั้งอยู่ที่ไหนบ้างและได้ไปพบกับผู้บริหารหรือผู้แทนของสถานที่ที่เราไปตั้งตู้รับบริจาค และขอความร่วมมือสนับสนุนการจัดหาทุน ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี การดำเนินงานไม่ใช่ว่าจะสำเร็จราบรื่นเสมอไป สถานประกอบการ / ธนาคารบางแห่ง มีการส่งคืนตู้บริจาคโดยให้เหตุผลว่าเป็นนโยบายของผู้บริหาร และทำบันทึกเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดประสานสถานประกอบการ / ธนาคารอื่น ๆ ขอจัดวางตู้รับบริจาค โดยในครั้งแรกก็ประสานโดยวาจาก่อนถ้าเขาไม่ขัดข้องก็ทำเป็นหนังสือโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ลงนาม ขณะนี้มีตู้รับบริจาคที่วางตามห้างสรรพสินค้าและธนาคาร จำนวน 11 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 3 แห่ง และเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา ดิฉันได้ไปประสานห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส สาขาศรีนครินทร์ ขอวางตู้รับบริจาคฯ ครั้งแรกไปประสานด้วยวาจา และได้ทำหนังสือจากผู้ว่าราชการจังหวัดไปประสานอีกครั้ง ทางผู้บริหารห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส สาขาศรีนครินทร์ไม่ขัดข้องและอนุญาตให้จัดวางตู้รับบริจาครวมทั้งได้จัดกิจกรรม “มื้อนี้ พอเพียง” ขึ้นที่ศูนย์อาหารห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส สาขาศรีนครินทร์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 และมีความประสงค์จะมอบเงินสมทบกองทุนพัฒนาเด็กชนบทในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุนต่อไป โดยได้เรียนเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ (นายสุรชัย ขันอาสา) ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเด็กชนบทในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จังหวัดสมุทรปราการ เป็นผู้รับมอบ ปัจจุบันจังหวัดสมุทรปราการมีเงินสมทบกองทุนทั้งสิ้น 1,685,899.31 บาท (หนึ่งล้านหกแสนแปดหมื่นห้าพันแปดร้อยเก้าสิบเก้าบาทสามสิบเอ็ดสตางค์) และในปี 2552 ได้ให้ความช่วยเหลือเด็กยากจนและด้อยโอกาสจำนวน 128 ทุน ๆ ละ 1,200 เป็นเงิน 153,600 บาท(หนึ่งแสนห้าหมื่นสามพันหกร้อยบาทถ้วน)
ดิฉันมีความภาคภูมิใจมากที่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการจัดหาทุนและสามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องของการจัดหาเงินเข้ากองทุนได้สำเร็จ
ขุมความรู้
1. สืบค้นรายละเอียดจากแฟ้มงานและศึกษาให้เข้าใจ
2. วางแผนการดำเนินงาน
3. แสวงหาความร่วมมือจากภาคีการพัฒนา
4. ปรึกษาหารือกับผู้บังคับบัญชา
5. ประสานโดยวาจาก่อนถ้าเขาไม่ขัดข้องก็ทำเป็นหนังสือ
6. จัดตั้งตู้รับบริจาคสมทบกองทุนตามห้างสรรพสินค้าและธนาคารภายในจังหวัด
7. ทำบันทึกเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดประสานสถานประกอบการ / ธนาคารอื่น ๆ ขอจัดวางตู้รับบริจาค
แก่นความรู้
1. ศึกษา เรียนรู้
2. มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
3. ให้ผู้มีจิตศรัทธาเข้าร่วมจำเนินกิจกรรม
4. ประสานงาน
5. สรุปรายงาน
ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินงานกองทุนพัฒนาเด็กชนบทในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จังหวัดสมุทรปราการ

ความรู้เรื่อง เทคนิค (ง่าย ๆ ) การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต


เจ้าของความรู้ นางฉันทนา จรัลชวนะเพท
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน
แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ ความยากจน
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ ปี 2548
สถานที่เกิดเหตุการณ์ จังหวัดสมุทรปราการ

กรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการให้มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตตั้งแต่ปี 2517 วัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้าน / ชุมชน ได้รู้จักการออมและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยยึดคุณธรรม 5 ประการ คือ 1. ซื่อสัตย์ 2. เสียสละ 3. รับผิดชอบ 4.มีความไว้วางใจ และ 5. มีความเห็นอกเห็นใจ
ในปี พ.ศ. 2548 ข้าพเจ้าได้ขอไปปฏิบัติหน้าที่พัฒนากรที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบประสานงานตำบลบางกอบัวและตำบลบางกะเจ้า ซึ่งทั้ง 2 ตำบล มีผู้นำท้องถิ่น ผู้นำองค์กรชุมชนเข้าแข็งมาก และสภาพภูมิประเทศจะเป็นเขตเมือง ซึ่งโดยส่วนใหญ่ถ้าเราทำงานพัฒนาชุมชนในเขตเมืองจะมีความรู้สึกว่าทำงานยาก แต่ข้าพเจ้าโชคดีที่มีผู้นำชุมชนกลุ่ม องค์กร ที่ได้การสนับสนุนในการดำเนินงาน และจากการสำรวจข้อมูลของหมู่บ้านของทั้ง 2 ตำบล ยังไม่มีการดำเนินงานจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จึงได้พูดคุยกับกลุ่มองค์กร ผู้นำชุมชน หรือสอดแทรกเรื่องการออมทรัพย์ฯ ทุกครั้งในการประชุมหรือการจัดกิจกรรมของหมู่บ้าน โดยแรก ๆ ก็ยังมีท่าทีหรือไม่อยากดำเนินการ เพราะบางคนก็เป็นสมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์ฯ ของตำบลบางน้ำผึ้งและตำบลใกล้เคียงแล้วหรือตำบลบางกะเจ้าก็เคยมีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ฯ แต่ต้องยกเลิกไป(สาเหตุอะไรจะไม่กล่าวถึง) ข้าพเจ้าก็คิดว่าจะทำอย่างไรดี จะได้มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ฯ ได้ ทั้งเป็นงานนโยบายที่ต้องทำและเป็นการส่งเสริมให้หมู่บ้าน / ตำบล ได้รู้จักการออม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งตามเกณฑ์การประเมินหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ และเป็นการฝึกการออมให้เป็นนิสัยเพื่อเป็นทางเลือกในการออมไว้ให้ลูกหลานหรือนำไปใช้เป็นทุนประกอบอาชีพต่อไป
“ความยากจนอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” คตินี้ยังใช้ได้ผลอยู่เพราะข้าพเจ้าได้พยายามที่จะพูดคุยและจัดให้มีการประชุมผู้นำชุมชนและชาวบ้านที่สนใจอยู่หลายครั้ง ทั้งที่ต้องเสียสละวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ในการประชุม(การประชุมเราจะไม่ชี้นำว่าต้องจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตให้ได้ ให้เป็นผลความต้องการของเขาเท่านั้น) ในที่สุดทั้ง 2 ตำบลก็มีความเห็นพ้องกันว่าจะจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตของตำบลเพราะอยากให้มีการดำเนินงานและประสบผลสำเร็จเหมือนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตของตำบลอื่นที่เขาประสบผลสำเร็จในการบริหารงานจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันกลุ่มออมทรัพย์ฯ ตำบลบางกอบัวและตำบลบางกะเจ้าได้ดำเนินการมาแล้ว 3 ปี ข้าพเจ้าก็รู้สึกดี ๆ กับการได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานในครั้งนี้และก็หวังว่ากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตของทั้ง 2 กลุ่ม จะได้รับการพัฒนาจนไปถึงการจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนต่อไป


ขุมความรู้
1. ศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง
2. ยึดแนวทางการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตของกรมการพัฒนาชุมชน
3. พูดคุยกับกลุ่มองค์กร ผู้นำชุมชน หรือสอดแทรกเรื่องการออมทรัพย์ฯ ทุกครั้ง
4. พยายามที่จะพูดคุยและจัดให้มีการประชุมผู้นำชุมชนและชาวบ้านที่สนใจ
5. เสียสละวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ในการประชุม


แก่นความรู้
1. ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง
2. ให้ชาวบ้านเป็นผู้ตัดสินใจในการดำเนินงาน
3. ยึดแนวทางการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตของกรมการพัฒนาชุมชน

ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
· ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง
· แนวทางการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตของกรมการพัฒนาชุมชน
· เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

กลยุทธ์ ศึกษา ยึดแนวทางกรมฯ ชี้แจง สอดแทรกและกระตุ้นให้คิด

วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553



สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการจัดเวทีจัดการความรู้ผู้นำกลุ่มองค์การ เครือข่ายที่ชนะเลิศการคัดเลือกกิจกรรมกาพัฒนาชุมชนดีเด่นและเพื่อจัดเก็บความรู้ภายต็โครงการ ขับเคลื่อนโครงการริเริ่มสร้างสรรค์ ประจำปี 2553 โครงการ “Wisdom in CDD : การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้วยพลังภูมิปัญญาพัฒนาชุมชนคนสมุทรปราการ” โดย กลุ่มงานสารสนเทศฯ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีนางคำแข ธรรมนิยายพัฒนาการจังหวัดสมุทรปราการเป็นประธาน เมื่อเร็วๆนี้ณ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรปราการ

KM สตรีสมุทรปราการ


นางคำแข ธรรมนิยาย พัฒนาการจังหวัดสมุทรปราการร่วมกับ คณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดสมุทรปราการ จัดเวทีเพื่อจัดการความรู้คณะกรรมการพัฒนาสตรีระดับอำเภอ โดยเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการดีเด่นของอำเภอทุกอำเภอซึ่งเป็นการจัดเก็บและแสวงหาวิธีปฎิบัติด้านการส่งเสริมสตรีทั้งจังหวัด เมื่อเร็วๆนี้

จัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น



สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะกรรมการชุมชนคลองยายหลี ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ ถอดบทเรียนและจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ณ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านคลองยายหลี หมู่ 12 ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ โดยมีทีมงานKM ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและพัฒนาชุมชนอำเภอพระสมุทรเจดีย์ เป็นทีมเอื้ออำนวยกระบวนการ เมื่อวันที่ 3-5 มีนาคม 2553

เผยเเพร่ความรู้การจัดเก็บ จปฐ. สมุทรปราการ



สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการร่วมกับ เครือข่ายภาคประชาชนและอาสาสมัครจัดเก็บข้อมูล จปฐ.จังหวัดสมุทรปราการ ถอดบทเรียนและจัดการความรู้ทีมงานจัดเก็บและบันทึกข้อมูล จปฐ. โดยเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนจัดเก็บและบันทึกข้อมูล จปฐ. เมื่อเร็วๆนี้

ชี้เเจงการขับเคลื่อนโครงการ KM สมุทรปราการ



สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการจัดประชุมชี้แจงการขับเคลื่อนโครงการริเริ่มสร้างสรรค์ ประจำปี 2553 โครงการ “Wisdom in CDD : การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้วยพลังภูมิปัญญาพัฒนาชุมชนคนสมุทรปราการ” โดย กลุ่มงานสารสนเทศฯ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีนางคำแข ธรรมนิยายพัฒนาการจังหวัดสมุทรปราการเป็นประธาน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 ณ ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ

พัฒนาชุมชนบ่งชี้ความรู้ KM ปี 2553



จังหวัดสมุทรปราการ โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดจัดประชุมคณะทำงานอำนวยการเเละคณะทำงานจัดการความรู้ด้านการพัฒนาชุมชน จังหวัดครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด โดยมี นางคำเเข ธรรมนิยาย พัฒนาการจังหวัด ในฐานะ CKO หรือผู้บริหารองค์ความรู้ เป็นประธานการประชุม คณะKM ทีมชุดนี้ มีรองผู้ว่ารา...ชการจังหวัด นายชนะ นพสุวรรณ เป็นที่ที่ปรึกษา วันนี้เป็นการบ่งชี้ความรู้ที่จำเป็นเเละกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการจัดการความรู้ดานการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็น 1 ใน กระบวนการจัดการความรู้(KMP)

วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การบริหารจัดการองค์ความรู้กับสถานการณ์ขององค์กรและการเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากรบุคคล



ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การส่งเสริมการจัดการความรู้ในองค์กร มิได้หมายความถึงเพียงการจัดทำเอกสารคู่มือการทำงาน ซึ่งรวบรวมจากองค์ความรู้ของบุคลากรในองค์กรเท่านั้น หากแต่ปรับเปลี่ยนไปสู่แนวทางการดำเนินการในเชิงกลยุทธ์ ที่จะสร้างกระบวนการรวบรวมและจัดการองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร ทั้งทางด้านเทคนิควิชาชีพในการปฏิบัติงานต่างๆ การบริหารจัดการเครือข่ายในการปฏิบัติงาน ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ข้อผิดพลาดเพื่อการเรียนรู้ รวมทั้งการนำมาใช้ในการปฏิบัติงานประจำวัน การพัฒนางาน โครงการ ตลอดจนการกำเนินการงานต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงประสิทธิผลของการตัดสินใจในองค์กรเพื่อสร้างนวัตกรรม ดังนั้น การจัดการความรู้ในองค์กรจีงมีเป้าหมายสำคัญ 2 ประการ คือ (1) เพื่อนธำรงรักษาไว้ซึ่งความรู้ ความสามารถ ทักษะ สมรรถนะและค่านิยม ซึ่งก็คือขีดความสามารถและความทรงจำขององค์กร (Institutional Capability and memory) และ (2) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อันจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมในการทำงาน ซึ่งส่งผลให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินการและบริหารจัดการในทุกระดับขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ในองค์กรปัจจุบันกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงบุคลากรในองค์กรมีอายุงานและวัยที่ใกล้เกษียนมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นปัญหาให้องค์กรต้องประสบคือการขาดความต่อเนื่องในการบริหารงานอันสืบเนื่องมาจากการขาดการวางแผนจัดการพัฒนาองค์ความรู้ภายในองค์กร อย่างป็นระบบและต่อเนื่อง ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการการเปลี่ยนแปลงขององค์กร รวมถึงปัจจัยภายนอกที่มากระทบ ดังนั้นผู้บริหารจำเป็นต้องวางระบบการบริหารองค์ความรู้เชิงกลยุทธ์ ครอบคลุมทั้ง กระบวนการ เทคนิควิธี และเครื่องมือเพื่อเชื่อมโยงกับกลยุทธ์ ความท้าทาย และระบบการบริหารงานต่างๆขององค์กร ในลักษณะการบูรณาการมากยิ่งขึ้น(สำนักงาน ก.พ. 2552: 37)

การปรับเปลี่ยนองค์กรภาครัฐด้วยการบริหารจัดการองค์ความรู้



ในการบริหารจัดการยุคใหม่ ซึ่งเป็นยุคแห่งสังคมฐานความรู้ (Knowledge based society) ความรู้เป็นทุนทางปัญญาใช้สร้างคุณค่าและมูลค่า (Value) การบริหารการใช้ความรู้ในองค์กรด้วยการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ และสามารถเรียกใช้หรือสืบค้นได้ นั่นหมายถึง ความสามารถในการบริหารจัดการความรู้ ให้เกิดประโยชน์กับองค์การ ทั้งนี้เพราะองค์กรเป็นผู้ที่ลงทุน ที่ก่อ ให้เกิดความรู้ในการทำงานของบุคลากรแต่ละคน และเมื่อบุคลากรเหล่านั้นลาออก ความรู้ก็จะหายไปพร้อมกับบุคลากรคนนั้น ความรู้เป็นสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุดขององค์กร องค์กรต้องเสริมสร้างและรักษาไว้ ซึ่งความสามารถขององค์กรในการทำให้วงจรการเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ เพื่อเพิ่มคุณค่าของกิจการภายในองค์การ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) จึงกำหนดให้การจัดการความรู้เป็นส่วนหนึ่งของตัวชี้วัดในการประเมินหน่วยงานราชการ นับแต่ปี 2549 เป็นต้นมา
จากการปฏิรูประบบราชการสู่การบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการที่ยึดผลลัพธ์เป็นหลักในการทำงาน มีการวัดและประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งนำนวัตกรรมและเครื่องมือการบริหารจัดการองค์กรยุคใหม่มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และบุคลากรขององค์กรภาครัฐ อยู่ตลอดเวลา การบริหารจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management) จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่สำนักงาน ก.พ.ร. กำหนดให้ทุกส่วนราชการปฏิบัติ ตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) หมวด 4 การวัด วิเคราะห์และการจัดการความรู้ ซึ่งเป็นไปตามพระราชกฤาฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ในการปรับปรุงการบริหารจัดการองค์กรภาครัฐไปสู่องค์กรที่มีขีดสมรรถนะสูงบุคลากรเก่งและดี (High Performance Organization: HPO) และพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรให้เป็นนักปฏิบัติที่มีความรู้ และใช้ความรู้ในการปฏิบัติงาน (Knowledge Worker) อันจะส่งผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกับหนุนเสริมให้องค์กรขับเคลื่อนไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) เกิดบทเรียนและวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) มากมายในองค์กร

สถานการณ์องค์กรในยุคสังคมฐานความรู้


กระแสการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ต้องเผชิญไม่ว่าจะเป็นบุคคล หรือองค์กร การเปลี่ยน แปลงที่เกิดขึ้นมันรวดเร็วและรุนแรง ก็ด้วยปัจจัยที่เกิดจากการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีสาร สนเทศ ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบกับการดำเนิน งานทั้งภายในและภายนอกองค์การสังคมก้าวเข้าสู่สังคมฐานความรู้(Knowledge based society) ทำให้เวทีการแข่งขันที่เคยจำกัดอยู่ในวงแคบ ๆ ขยายขอบ เขตออกไปครอบคลุมทั่วโลก โดยเฉพาะในปี 2549 รัฐบาลจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ ปี 2545-2549 ได้กำหนดให้การบริหารงานภาครัฐเข้าสู่ ระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) อีกทั้งแนวคิดในการบริหารจัดการสมัยใหม่ ทั้งการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management)

การจัดการคุณภาพ (Quality Management) การจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) และ การบริหารจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management) ทำให้องค์กรและหน่วยงานทั้งหลายต้องปรับท่าที เพื่อความอยู่รอด และมีภูมิคุ้มกันอย่างมั่นคง เพราะองค์กร เป็นสิ่งมีชีวิต (Organic) ไม่ใช่เครื่องจักร (Mechanic) โดยคนเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ ซึ่งคนก็ไม่ใช่ต้นทุน แต่เป็นทุนมนุษย์ (Human Capital) เพราะในตัวคนมี ทักษะและประสบการณ์ที่ก่อให้ เกิดความชำนาญซึ่งเป็น "ทุนความรู้" (Knowledge Capital) จำเป็นต้องสร้างค่านิยมขององค์การ (Corporate Value) และวัฒนธรรมองค์กร (Corporate Culture) ที่ดี ความรู้ภายใต้บริบทเฉพาะมักแฝงอยู่ในตัวคนหรือกลุ่มคน เมื่อถูกปรับเปลี่ยนและจัดการอย่างเป็นระบบ (Knowledge Management) เพื่อรักษาองค์กรไว้ ซึ่งจะต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้ ให้ความรู้ทั้งหลายนั้นกลายเป็นความรู้ที่เกิดประ โยชน์สำหรับคนทั้งองค์กร เพื่อการก้าวเข้าสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) เพราะ "ความรู้" คือ "อำนาจ" (ข้อมูลจาก WWW.)

วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

คลังความรู้พัฒนาชุมชนสมุทรปราการ: WISDOM IN CDDการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้วยภูมิปัญญาพ...

คลังความรู้พัฒนาชุมชนสมุทรปราการ: WISDOM IN CDDการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้วยภูมิปัญญาพ...: "“การจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ” 1. ความเป็นมา ยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน พ.ศ.2551 – 255..."

WISDOM IN CDDการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้วยภูมิปัญญาพัฒนาชุมชนคนสมุทรปราการ







“การจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ”

1. ความเป็นมา
ยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน พ.ศ.2551 – 2554 กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการบริหารจัดการชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน” โดยมีพันธกิจในการสร้างพลังชุมชน สร้างระบบจัดการความรู้ และสร้างระบบการบริหารจัดการชุมชนโดยมีเป้าหมายเพื่อชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนพึ่งตนเองได้ ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข ภายใต้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าว สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นกลไกการปฏิบัติในระดับพื้นที่ มีภารกิจสำคัญในการหนุนเสริมและขับเคลื่อนงานเชิงยุทธศาสตร์ในส่วนภูมิภาค ในขณะเดียวกับการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด / จังหวัด เป็นภารกิจคู่ขนานที่มุ่งผลสัมฤทธิ์เชิงรูปธรรมเช่นเดียวกัน ดังนั้นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่บุคลากรในทีมงานของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการในทุกระดับ จึงมีความสำคัญ ซึ่งนอกจากการส่งเสริมให้ทุกคนได้พัฒนาตนเองตามระบบการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองตามแนวทางและการให้บริการของกรมการพัฒนาชุมชน เช่น การเรียนรู้ตามระบบ E-Learning / IDP เป็นต้นแล้ว การส่งเสริมให้บุคลากรนำสินทรัพย์ทางปัญญาออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทั่วทั้งองค์กร รวมทั้งส่งเสริมให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ นอกจากเป็นการสร้างบรรยากาศให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้แล้ว ยังเป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมและค่านิยมการชื่นชม ยินดีและการแบ่งปันของกรมการพัฒนาชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย
ด้วยเหตุผลดังกล่าว สอดคล้องกับแนวนโยบายของกรมการพัฒนาชุมชนในการส่งเสริมให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศได้มีการติดตั้งระบบการจัดการความรู้ให้เกิดขึ้นภายในสำนักงานฯ รวมทั้งกำหนดให้มีกิจกรรมในการขับเคลื่อนเรื่องการจัดการความรู้รองรับระบบดังกล่าว
จากสาเหตุความจำเป็นที่กล่าวมา สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ ได้ริเริ่มการดำเนินงานโครงการเพื่อพัฒนาสมรรถนะองค์กรด้วยการติดตั้งระบบการจัดการความรู้ทั่วทั้งองค์กรขึ้นภายใต้โครงการ “WISDOM IN CDD : การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้วยภูมิปัญญาพัฒนาชุมชนคนสมุทรปราการ” ขึ้นเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพกระบวนงานในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภายใต้แผนปฏิบัติราชการประจำปีให้บรรลุผลเชิงรูปธรรม รวมทั้งพัฒนาระบบบริหารองค์ความรู้ของบุคลากรและกลุ่มองค์กรในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อพัฒนางานและเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรในจังหวัดสมุทรปราการอย่างแท้จริง
2. หลักการในการดำเนินงาน
การดำเนินงานโครงการ “WISDOM IN CDD : การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้วยภูมิปัญญาพัฒนาชุมชนคนสมุทรปราการ” มีหลักการดำเนินงานดังกล่าวต่อไปนี้
1) ยึดกระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management Process : KMP) ตามแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) 7 ขั้นตอน
2) ยึดกระบวนการบริหารการเปลี่ยนแปลง 6 ปัจจัยหลัก (Change Management Process : CMP)
3) ยึดหลักการมีส่วนร่วมของบุคลากรในการดำเนินการขับเคลื่อนทั่วทั้งองค์กร
รูปแบบหรือโมเดลการจัดการความรู้ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ
1.การเตรียมการและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
(Transition and Behavior Management)
zในการขับเคลื่อนโครงการฯสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ ได้กำหนดรูปแบบหรือโมเดลการจัดการความรู้ในการพัฒนาสมรรถนะการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
1. ปรัชญาพื้นฐานในการดำเนินงานจัดการความรู้ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ
ในการขับเคลื่อนโครงการริเริ่มสร้างสรรค์ ภายใต้กรอบแนวคิดการพัฒนาขีดความสามารถองค์กรด้วยกระบวนการจัดการความรู้ (KM Process) สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการมีแบบแผนและปรัชญาพื้นฐานในการดำเนินงาน คือ “Right Knowledge Right People Right Time” การบริหารจัดการความรู้ที่ต้องการใช้ให้แก่คนที่ต้องการในเวลาที่ต้องการใช้ เพื่อให้คนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและส่งผลให้องค์กรประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย
นอกจากนี้ ปรัชญาและหลักการพัฒนาชุมชนยังเป็นหัวใจสำคัญในการนำมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับการวางระบบการจัดการความรู้ทั่วทั้งองค์กรภายใต้แนวคิด
“คนมีศักยภาพ ทักษะ และประสบการณ์ การสืบค้น แสวงหาและเก็บรวบรวมและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เหล่านี้เป็นสินทรัพย์ของสำนักงานพัฒนาชุมชน เพื่อความสำเร็จตามเป้าหมายของงานตามยุทธศาสตร์”