ในการบริหารจัดการยุคใหม่ ซึ่งเป็นยุคแห่งสังคมฐานความรู้ (Knowledge based society) ความรู้เป็นทุนทางปัญญาใช้สร้างคุณค่าและมูลค่า (Value) การบริหารการใช้ความรู้ในองค์กรด้วยการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ และสามารถเรียกใช้หรือสืบค้นได้ นั่นหมายถึง ความสามารถในการบริหารจัดการความรู้ ให้เกิดประโยชน์กับองค์การ ทั้งนี้เพราะองค์กรเป็นผู้ที่ลงทุน ที่ก่อ ให้เกิดความรู้ในการทำงานของบุคลากรแต่ละคน และเมื่อบุคลากรเหล่านั้นลาออก ความรู้ก็จะหายไปพร้อมกับบุคลากรคนนั้น ความรู้เป็นสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุดขององค์กร องค์กรต้องเสริมสร้างและรักษาไว้ ซึ่งความสามารถขององค์กรในการทำให้วงจรการเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ เพื่อเพิ่มคุณค่าของกิจการภายในองค์การ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) จึงกำหนดให้การจัดการความรู้เป็นส่วนหนึ่งของตัวชี้วัดในการประเมินหน่วยงานราชการ นับแต่ปี 2549 เป็นต้นมา
จากการปฏิรูประบบราชการสู่การบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการที่ยึดผลลัพธ์เป็นหลักในการทำงาน มีการวัดและประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งนำนวัตกรรมและเครื่องมือการบริหารจัดการองค์กรยุคใหม่มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และบุคลากรขององค์กรภาครัฐ อยู่ตลอดเวลา การบริหารจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management) จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่สำนักงาน ก.พ.ร. กำหนดให้ทุกส่วนราชการปฏิบัติ ตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) หมวด 4 การวัด วิเคราะห์และการจัดการความรู้ ซึ่งเป็นไปตามพระราชกฤาฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ในการปรับปรุงการบริหารจัดการองค์กรภาครัฐไปสู่องค์กรที่มีขีดสมรรถนะสูงบุคลากรเก่งและดี (High Performance Organization: HPO) และพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรให้เป็นนักปฏิบัติที่มีความรู้ และใช้ความรู้ในการปฏิบัติงาน (Knowledge Worker) อันจะส่งผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกับหนุนเสริมให้องค์กรขับเคลื่อนไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) เกิดบทเรียนและวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) มากมายในองค์กร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น