km

km
พัฒนาชุมชนสมุทรปราการ ดำเนินงาน KM

วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

ความรู้เรื่อง เทคนิคการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ


เจ้าของความรู้ นางสงวน มะเสนา
ตำแหน่ง หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ การทำงานให้ประสบผลสำเร็จต้องทำอย่างไร
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2528
สถานที่เกิดเหตุการณ์ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี

การได้รับ “ครุฑทองคำ” หรือการได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็น “ข้าราชการพลเรือนดีเด่น” นับว่าเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของการเป็นเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน เมื่อนั่งครุ่นคิด มองย้อนหลังไปเมื่อครั้งเริ่มต้นชีวิต การทำงาน ด้วยการเป็น เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ระดับ 1(พัฒนากรรุ่น 14) เป็นก้าวแรกในการเดินเข้าสู่ การเป็นข้าราชการใน“ครอบครัวพัฒนาชุมชน” ของข้าพเจ้า เมื่อวันที่ 1กุมภาพันธ์ 2528 ณ สำนักงาน พัฒนาชุมชน เขตที่ 4 (สพช. เขต 4) อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ปัจจุบันคือศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชน เขตที่ 4(ศพช.เขต4) ตลอดระยะเวลาที่รับการฝึกอบรมก่อนประจำการ 3 เดือนเศษ คือระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ –16 พฤษภาคม 2528 สถานที่แห่งนี้ได้ฝึกอบรม บ่มนิสัย ให้ความรู้และประสบการณ์ ในการทำงานกับประชาชน สำหรับข้าราชการใหม่ จำนวน 97 คน ซึ่งข้าพเจ้าได้เป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งในจำนวนนั้น ภายใต้คำขวัญของกรมการพัฒนาชุมชน โดยการนำของท่านอธิบดีฯ สุวนัย ทองนพ ที่ว่า “หมู่บ้าน คือ ที่อยู่รวมกันของชาวบ้านที่เขาต้องการอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุกตลอดไป ”
จากคำขวัญสั้น ๆ นี้ ไม่น่าเชื่อว่าจะทำให้เกิดกิจกรรมที่ยืนยาว และวิธีการที่มากมายหลากหลายอย่างในการทำงานพัฒนาชุมชน เพื่อจะให้ชาวบ้านเดินไปสู่เป้าหมายที่เขาต้องการ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือก่อให้เกิด“ทัศนคติที่ดีและอุดมการณ์“ ในการทำงานของข้าพเจ้า ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าตัวข้าพเจ้าเองก็เป็นลูกชาวบ้านที่ใช้ชีวิตอยู่ในชนบทที่งดงาม มีวิถีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ จึงมีความต้องการและอยากจะเห็นหมู่บ้านของเราเป็นอย่างนั้น...อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุกตลอดไป ด้วยความเชื่อมั่นในหลักและวิธีการพัฒนาชุมชน ว่าจะสามารถทำให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ข้าพเจ้าจึงมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ และมุ่งมั่นที่ “จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด“ นี่คือแรงบันดาลใจให้ต้องศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมจากการฝึกอบรมอีกมากมาย ทั้งเรียนในระบบของสถาบันการศึกษา และการเรียนรู้นอกระบบ ที่มีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมถึงระเบียบกฎหมาย ข้อมูลด้านต่าง ๆ เอกสารวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ สิ่งสำคัญที่สุดคือการได้ลงไปปฏิบัติงานจริงในตำบล หมู่บ้าน ในตำแหน่งพัฒนากรของข้าพเจ้า ในเขตพัฒนาตำบลแกดำ อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม ที่ข้าพเจ้าจะต้องทำงานร่วมมือร่วมใจกับประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่หลักของข้าราชการพัฒนาชุมชน โดยการสนับสนุน ช่วยเหลือด้านต่าง ๆ จากท่านพัฒนาการอำเภอและพี่ ๆ พัฒนากร ที่คอยให้คำแนะนำ ซึ่งมีทั้งคำตำหนิ และถูกดุบ้างเป็นบางครั้งในกรณีที่ทำงานผิดพลาด แต่ก็ไม่หวั่นไหว ไม่ท้อแท้ เพราะเป็นบทเรียนที่ล้ำค่า ท่ามกลางความภูมิใจเมื่อได้รับคำชมว่าทำงานได้ดี ในบางครั้งก็เกิดความสงสัยเหมือนกันว่า ทำไมพี่ ๆ มอบหมายงานให้เราทำมากมาย ทั้งงานในสำนักงานก็มากและยังให้รับผิดชอบ 2 ตำบลใหญ่ที่มีหลายหมู่บ้านแต่ก็ไม่เคยท้อถอยและปฏิเสธงานที่ได้รับมอบหมายแต่ประการใด และไม่เคยปริปากบ่นหรือต่อว่าพี่ ๆ ที่มอบงานให้ทำมากเช่นนั้น ยังคงตั้งหน้าตั้งตาทำงานให้เต็มกำลังความสามารถ ภายใต้การดูแลของพี่ ๆ พัฒนากรที่อบอุ่น คอยดูแลการทำงานของข้าพเจ้าไม่ทอดทิ้งให้ต่อสู้อุปสรรคอย่างเดียวดาย
จากการที่ไม่เคยเลือกงานหรือปฏิเสธงาน มีความรับผิดชอบต่องานเสมอมาได้ทำงานด้วยความเต็มใจและตั้งใจ จึงทำให้ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ให้รับผิดชอบงานสำคัญที่เป็นนโยบายหลักเสมอ ๆ จากสภาพดังกล่าวนี้ได้ส่งผลดีต่อข้าพเจ้า กล่าวคือ ทำให้ได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ตรงในการทำงานมากขึ้นได้ศึกษาค้นคว้าเนื้อหารายละเอียดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานนั้น ๆ รวมถึงการหารูปแบบวิธีการที่จะทำให้งานสำเร็จตามเป้าหมาย โดยข้าพเจ้าถือว่าการทำงานนั้น ”ทำมากได้มาก ยิ่งทำมากยิ่งรู้มาก“ คือ ได้ทั้งความรู้และประสบการณ์ที่ทรงคุณค่า
อนึ่ง ในการทำงานใด ๆ จะให้ประสบผลสำเร็จนั้น นอกจากผู้ปฏิบัติงานจะมีอุดมการณ์ที่สูงส่ง มีความเสียสละ และมีธรรมาภิบาล แล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่า ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ อีกมากมาย ตั้งแต่ระดับสูงลงมา ดังเช่น ผู้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นผู้ที่ให้โอกาสในการทำงานให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ ตลอดจนการส่งเสริม สนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมี เพื่อนร่วมงาน ภาคีพัฒนา ประชาชน เป็นผู้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานที่ช่วยเติมเต็มทั้งพลังความคิด พลังกาย และพลังใจให้งานได้ขับเคลื่อนไปสู่จุดหมาย และที่สำคัญยิ่งจะขาดไม่ได้เลย คือ ครอบครัว ที่สมาชิกครอบครัว เช่น คู่สมรส บุตร ธิดา มีความเข้าใจในหน้าที่และลักษณะงานที่เราทำ พร้อมให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ และเป็นกำลังใจ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะได้รับความร่วมมือหรือการช่วยเหลือสนับสนุนจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องข้างต้น นั้น ข้าพเจ้าได้ถือปฏิบัติในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ดังนี้
ประการแรก คือ ความจริงใจ และการให้เกียรติแก่ผู้ร่วมงาน ไม่ว่าผู้ร่วมปฏิบัติงานกับเราจะเป็นใคร จะมีตำแหน่งหน้าที่สูงต่ำเพียงใด ก็จะให้ความสำคัญกับทุกคน
ประการที่สอง คือ การทำงานที่ยึดถือระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่กระทำในสิ่งที่ผิดหรือขัดต่อระเบียบ
ประการที่สาม คือ มีความรับผิดชอบ อดทน เสียสละ ซื่อสัตย์ คุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล
ประการที่สี่ คือ การวางตัวเสมอต้นเสมอปลาย มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส มีหัวใจ นักประชาธิปไตย คือ ต้องให้ผู้อื่นมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ข้าพเจ้าพร้อมที่จะรับฟังคำติชมของผู้อื่น เพื่อจะเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองต่อไป
ประการสุดท้าย คือ การทำงานทุกครั้งทุกกิจกรรมจะต้องทำให้ดีที่สุด ซึ่งข้าพเจ้ามีคติพจน์ในการทำงาน คือ “ทำวันนี้ให้ดีที่สุด”
จากถ้อยร้อยเรียงที่กล่าวมานั้น เป็นแนวทางที่ข้าพเจ้ายึดถือในการปฏิบัติงานมาโดยตลอดเป็นระยะเวลา 22 ปีเศษ ทั้งในหน้าที่พัฒนากร นักวิชาการพัฒนาชุมชน และพัฒนาการอำเภอ ทำให้ข้าพเจ้าได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชา ได้รับการสนับสนุน ช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานและภาคีพัฒนา ได้รับความเชื่อถือศรัทธาและความร่วมมือจากประชาชน ก่อให้เกิดผลสำเร็จในการปฏิบัติงานพัฒนาชุมชน และทำให้ข้าพเจ้าได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็น“ข้าราชการพลเรือนดีเด่น”(ครุฑทองคำ) เมื่อปี พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าภาคภูมิใจมากในการเป็น ”ข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน” และข้าพเจ้าได้มีปณิธาณที่แน่วแน่ในการสืบสานการปฏิบัติหน้าที่ โดยยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม และเน้นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ให้สมกับที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม “ครุฑทองคำ”
ขุมความรู้
1. “ทัศนคติที่ดีและอุดมการณ์“
2. ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
3. ทำงานร่วมมือร่วมใจกับประชาชน
4. ไม่หวั่นไหว ไม่ท้อแท้
5. ไม่เคยท้อถอยและปฏิเสธงาน
6. ทำงานให้เต็มกำลังความสามารถ

แก่นความรู้
1. ทัศนคติที่ดี
2. ร่วมใจกับประชาชน
3. ไม่เคยท้อถอย
4. ทำงานให้เต็มกำลังความสามารถ



-------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น