km

km
พัฒนาชุมชนสมุทรปราการ ดำเนินงาน KM

วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

ความรู้เรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ


เจ้าของความรู้ นางกัญญา จุฑามณี
ตำแหน่ง พัฒนาการอำเภอบางเสาธง
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางเสาธง
เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวก 084-7593600
เป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ ความไม่ชัดเจนในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและการนำไปใช้ในวิถีชีวิต
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ ปี 2550
สถานที่เกิดเหตุการณ์ จังหวัดสมุทรปราการ

ในปี 2550 เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ประกอบกับรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดนโยบายขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นรากฐานการดำรงชีวิตของประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนและระดับประเทศมุ่งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การนำความรู้ไปขยายผลในพื้นที่ให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกับมุ่งส่งเสริมการสร้างสิ่งแวดล้อมของชุมชนให้น่าอยู่ประชาชนมีวิถีชีวิตอย่างสังคมอยู่เย็นเป็นสุข
จังหวัดสมุทรปราการดำเนินการคัดเลือกหมู่บ้านเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 80 หมู่บ้าน จาก 5 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ โดยกำหนดการดำเนินงานแบ่งเป็น 4 กิจกรรม คือ 1) การประชุมชี้แจงการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิตและการจัดการหมู่บ้านสะอาดน่าอยู่ให้กับแกนนำชุมชน สมาชิก อบต. กำนัน , ผู้ใหญ่บ้าน , ผู้นำ อช. , อช. , องค์กรสตรี , ประธานกลุ่มอาชีพ OTOP ฯลฯ 2) จัดมหกรรมอาชีพ แก้จน จำนวน 30 อาชีพ ให้กับครัวเรือนยากจนในหมู่บ้านเป้าหมาย 3) สนับสนุนกิจกรรมทางเลือกด้านอาชีพแก่ครัวเรือนยากจนในหมู่บ้านเป้าหมาย 4) การคัดเลือก / มอบรางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการและได้รับความร่วมมือจาก คณะวิทยากร ได้แก่ นายกิติศักดิ์ สินธุวนิช รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ , นายอัครวัฒน์ อัศวเหม รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ , ดร. ธันวา จิตต์สงวน อนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง รองอธิการบดีฝ่ายโครงการพิเศษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และ นายอเนก เพ็งสุพรรณ ปราชญ์ชาวบ้านจากอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในการบรรยายเรื่อง “การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติ” การดำเนินงานของจังหวัดมีการติดตาม / ประเมินผลโดยมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติและคณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งในการติดตามผลรายอำเภอใช้เกณฑ์ตัวชี้วัดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง 6X2 ของกรมการพัฒนาชุมชนเป็นเครื่องมือหนึ่งในการวัดผลความก้าวหน้า ในด้านการประชาสัมพันธ์มีการออกสปอร์ตการให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงทางวิทยุชุมชน สื่อสารสิ่งพิมพ์ภายในจังหวัด มีการจัดทำป้ายไวนิล แผ่นพับประชาสัมพันธ์ในทุกพื้นที่ ปัญหาที่ต้องแก้ไข

ขณะดำเนินการต้องให้ความระมัดระวัง อาทิ กิจกรรมการประชุมชี้แจงฯ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
กระบวนการที่ใช้ คือ การบรรยาย / การอภิปรายบนเวทีในห้องประชุมใหญ่ ไม่มีการถ่ายทอดโทรทัศน์วงจรปิด ทำให้คนที่นั่งด้านหลังไม่เห็นและได้ยินไม่ชัดเจน ปัญหานี้แก้ไขโดยการจัดทีมงานออกไปบรรยายเป็นรายอำเภอ การทำแผ่น CD-ROM เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแจก อีกกรณีหนึ่งที่ต้องให้ความระมัดระวังก็คือเรื่องระยะเวลาการดำเนินงานซึ่งมีเวลาจำกัดไม่สมดุลกับจำนวนกิจกรรมและการที่จะเห็นผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ทำให้ต้องขออนุมัติขยายระยะเวลาการดำเนินงานออกไปอีก 2 เดือนและมีกิจกรรมเสริมต่อเพื่อความต่อเนื่องให้เกิดการพัฒนาในระยะยาวในลักษณะ “สร้างเพื่อน สร้างเครือข่าย”
หลังจากการดำเนินงานเสร็จสิ้น ปรากฏว่า ประชาชนในหมู่บ้านเป้าหมายเกิดความตื่นตัวที่จะน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งในระดับตนเอง ครอบครัวและชุมชน เช่น การจัดทำบัญชีรับจ่ายครัวเรือน รู้จักการออม ลด ละ เลิกอบายมุข การสอนบุตรหลานให้ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงมีความเอื้ออาทร นำภูมิปัญญาและทรัพยากรชุมชนมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ การมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการมีอาชีพเสริม ความผาสุขของครอบครัวหลังจากนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ ทำให้ครัวเรือน / ชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรมมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก

ขุมความรู้ (Knowledge Assets)
1.การค้นหาข้อมูล รวบรวมข้อมูล วางแผน เตรียมความพร้อมในการทำงาน ประสานงาน
ชี้แจงทำความเข้าใจกับทีมงาน เพื่อสร้างความเข้าใจและมองเป้าหมายเดียวกัน
2. การดำเนินงานมีความเชื่อมโยงและส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทั้งในระดับแกนนำชุมชนและ
ประชาชนในหมู่บ้านก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
3. ติดตามผลการดำเนินงานทุกระยะ ถ้ามีข้อผิดพลาดจะได้ปรับปรุงแก้ไขได้ทันเหตุการณ์และทำให้ประสิทธิผลการทำงานบรรลุเป้าหมายได้ง่ายยิ่งขึ้น
4. การเผยแพร่ข่าวสารในทุกช่องทาง ทุกรูปแบบให้ถึงประชาชนในทุกพื้นที่ของจังหวัดให้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนรับรู้ เกิดความตื่นตัวที่จะน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในวิถีชีวิตของตนเอง
แก่นความรู้ (Core Competency)
1.การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ
2. การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รัฐ เอกชน องค์กรเครือข่าย
3. การติดตาม ประเมินผล
4. การประชาสัมพันธ์

กลยุทธ์ในการทำงาน
1. การชี้แจงทำความเข้าใจ
2. การประสานงาน สร้างความคุ้นเคยกับทุกภาคส่วน
3. การรายงานผลให้ผู้บังคับบัญชารับทราบเป็นระยะ

กฎระเบียบ แนวคิด ทฤษฏีที่เกี่ยวข้อง
แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น